“เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” คืออะไร-สำคัญอย่างไร หลังเปิดให้เลือกครั้งแรก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ครั้งแรกของไทย! “เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” คืออะไร-สำคัญอย่างไร หลังติดเทรนด์ค้นหาในโซเชียล และล่าสุดขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งถึง 10 พ.ย.นี้

เช็กสิทธิประกันสังคม เปิดใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนบอร์ดประกันสังคม

วันหยุดพฤศจิกายน 2566 เช็กปฏิทินวันหยุดราชการ-วันสำคัญ

มีข่าวดีมาฝากกันสำหรับสมาชิกในระบบประกันสังคม! หลังเรื่อง การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” ถูกพูดถึงกันมากจนติดเทรนด์ค้นหาในโซเชียลเมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม 2566) เพราะถือเป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกันตนทุกคนจะเข้าไปลงทะเบียนเลือกตั้ง

แต่ด้วยความที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ หรือยังไม่เข้าใจระบบวิธีการออกเสียง เพราะนี่เป็นครั้งแรกของประเทศที่จะเปิดให้คนไทยทุกคนได้มีสิทธิเลือกกัน ล่าสุดประกันสังคมจึงได้ขยายเวลาลงทะเบียนเพิ่มจนถึงวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้!

ดังนั้นใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ต้องรีบเข้าไปใช้สิทธิใช้เสียงกันแล้ว วันนี้ทางนิวมีเดีย พีพีทีวี จึงขออาสาเป็นส่วนหนึ่งที่จะมัดรวมทุกข้อควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกนี้มาฝากทุกคนกัน หวังว่าจะช่วยให้ทุกง่ายต่อการใช้งานมากขึ้นนะ

“เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” คืออะไร

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ที่สมาชิกในระบบประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง 24 ล้านคน จะมีสิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปดูแลงบประมาณและตัดสินใจนโยบายการประกันสังคมของประเทศ

เรื่องนี้ที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าผ่านการรอคอยมาอย่างยาวนานมาก เพราะตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ถูกแก้ไขใหม่ในปี 2558 ซึ่งมีใจความสำคัญระบุเป็นครั้งแรกให้ ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส”

แต่ภาพฝันที่จะได้เกิดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในช่วงไม่ใกล้ไม่ไกลจากปี 2558 นั้น ก็ต้องถูกพับลงไป เพราะมีการเข้ามาของ คสช. และมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 40/2558 พอดี โดยมีมาตรา 44 ระบุให้ “งดการบังคับใช้” บางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทุกตำแหน่งเข้ามาเลย

มากกว่านั้นเมื่อครบวาระการทำงาน 2 ปีแล้ว นายวิษณุ เครืองาม ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงานและเห็นว่าการจัดการการดำเนินการเลือกตั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่มีความคุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ รวมทั้งอาจขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้การเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย

และก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจไปก็ได้ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ออกมาอีก ให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 พร้อมที่ปรึกษา อยู่ในตำแหน่งไปก่อนระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งอีก ทำให้คณะกรรมการชุดแต่งตั้ง ตั้งแต่ยุค คสช. อยู่ในตำแหน่งลากยาวมาได้นานกว่า 8 ปีเต็ม ก่อนจะได้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งใหม่นี้ขึ้นในปี 2566

“เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม” สำคัญอย่างไร

ก่อนอื่นอยากให้มารู้จักกันก่อนว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” มีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง เพราะบุคคลที่เรากำลังจะเลือกเข้ามานี้ เขาจะมีสิทธิบริหารจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีงบประมาณที่มีเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท

  • เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัติ
  • พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ
  • วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
  • วางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
  • พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม
  • ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ/สำนักงานประกันสังคม
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมาย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีกระแสที่พูดถึงกันค่อนข้างมากว่า กองทุนนี้อาจเสี่ยงล่มสลาย ไม่มีเงินจ่ายให้ผู้ประกันตนหลังชรา ดังนั้นในฐานะผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมทุก ๆ เดือน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญมากเพราะนั่นอาจหมายรวมว่ากองทุนนี้จะล่มสลายจริงหรือไม่ จะมีเงินจ่ายให้ผู้ประกันตนหลังชราภาพอย่างเหมาะสมหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประกันสังคมที่เรากำลังจะเลือกตั้งนี้ ว่าจะสามารถดูแลงบประมาณและวางแผนนโยบายให้กับเราได้อย่างเป็นธรรมที่สุดหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรการได้เลือกคนที่เรามั่นใจที่สุดจะช่วยได้

ใครบ้างมีสิทธิ “เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม"

ผู้ประกันตน

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ก่อนเดือนกันยายน 2566)
  • ในระยะเวลา 6 เดือน ได้จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน
  • ต้องลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง

นายจ้าง

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นผู้ขึ้นทะเบียนนายจ้างติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ก่อนเดือนกันยายน 2566)
  • ในระยะเวลา 6 เดือน ได้จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 – สิงหาคม 2566)
  • กรณีนายจ้าง (นิติบุคคล) ต้องเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง และได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้มีอำนาจที่เหลือ (รับมอบได้เพียงนิติบุคคลเดียว)

 

วันเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม กำหนดให้เข้าคูหาใน วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 - 16.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีรายชื่อ โดยสิ่งที่ต้องทำในวันนั้น ได้แก่

  • ตรวจสอบรายชื่อ บนเว็บไซต์ประกันสังคม/ที่เลือกตั้ง (คูหา)
  • ยื่นหลักฐานแสดงตน ได้แก่ บัตรประชาชน/ ใบขับขี่/ หนังสือเดินทาง/บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนกรณีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเปิดผ่านแอปฯ “Thai ID” หรือ “DLT” เท่านั้น และกรณีผู้ใช้สิทธิเป็นนิติบุคคล ต้องนำหนังสือรับรองนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจออกให้ไม่เกิน 6 เดือนมาแสดงด้วย ซึ่ง กปต.จะเก็บหลักฐานไว้
  • รับบัตรเลือกตั้ง (ลงชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง ถ้าไม่สามารถเขียนได้ให้ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือกัวแม่มือขวา, หัวแม่มือซ้าย, นิ้วมืออื่น ตามลำดับ)
  • ลงคะแนน (ให้เขียนเลขอารบิก ไม่ใช่กากบาท)

วิธีลงทะเบียน “เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม”

ผู้ประกันตน

  1. เข้าสู่เว็บไซต์ ประกันสังคม
  2. คลิกเมนู "ผู้ประกันตน" 
  3. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและเข้าสู่ระบบ
  4. กรอกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเลือกพื้นที่เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง
  5. กดยืนยันการลงทะเบียนขอใช้สิทธิฯ จากนั้นจะมีข้อความว่า "สำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลการลงทะเบียนใช้สิทธิจากท่านแล้ว"

นายจ้าง

  1. เข้าสู่เว็บไซต์ ประกันสังคม
  2. คลิกเมนู "นายจ้าง"  
  3. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและเข้าสู่ระบบ
  4. ระบบจะแสดงหน้าจอบริการสำหรับสถานประกอบการและเมนูการใช้งานตามสิทธิที่มี

ไทม์ไลน์ "เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม"

  • 12 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2566 ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทางเว็บไซต์ประกันสังคม
  • 25-31 ตุลาคม 2566 รับสมัครเลือกตั้ง
  • 1-7 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร พร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้สมัครทราบ
  • 8-10 พฤศจิกายน 2566 ผู้สมัครคัดค้านความเห็นเจ้าหน้าที่
  • 10 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • 11 พฤศจิกายน - 14 ธันวาคม 2566 การขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • 21 พฤศจิกายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัคร
  • 22-26 พฤศจิกายน 2566 การขอเพิ่มชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
  • 4 ธันวาคม 2566 ประกาศเพิ่มชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
  • 24 ธันวาคม 2566 วันลงคะแนนเลือกตั้ง

บัตรเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ

  • บัตรสีฟ้า : เลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
  • บัตรสีเหลือง : เลือกผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

ทั้งนี้ หากกระทำดังต่อไปนี้จะถือเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ

  • ใช้บัตรเลือกตั้งปลอม
  • ใช้บัตรที่มิใช่บัตรที่ กปต.มอบให้
  • บัตรที่ทำเครื่องหมาย
  • บัตรที่เขียนหมายเลขเกินจำนวน
  • บัตรที่มีลักษณะเป็นบัตรเสียบางส่วนตามระเบียบข้อ 48 ทั้ง 7 ช่อง
  • บัตรลักษณะอื่นที่ กปต.วินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : iLaw และ สำนักงานประกันสังคม

ขอบคุณภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม และ Freepik

ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ลอตเตอรี่ 1/11/66

เปิดสถิติ แบรนด์สมาร์ตโฟนที่ครองใจชาวไทยมากสุด ไตรมาส 3 ปี 2566

กาง "ปฏิทินเงินเดือนข้าราชการปี 67" พร้อมเปิดเงื่อนไขให้แจ้งหากต้องการรับ 2 รอบ

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ