วันแรกของการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ พบว่ามีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่ออกมาแสดงตัว เพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล วันนี้ทีมข่าวได้เปิดใจลูกหนี้คนหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ที่เข้าไปอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบ แม้จะหาเงินมาจ่ายชำระหนี้อยู่หลายปี ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมด
สภาพความเป็นอยู่ของ “นางเอ” แม่ค้าขายอาหารรายวัน ซึ่งเธอพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อำเภอเมืองขอนแก่น นางเอ ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดี รายรับไม่พอกับรายจ่าย ทำให้เธอตัดสินใจเข้าไปสู่วังวนของเงินกู้นอกระบบมาหลายปีแล้ว
"อนุทิน" ยืนยัน โครงการแก้หนี้นอกระบบ ไม่ใช่การพักหนี้-ยกหนี้
“พิโกไฟแนนซ์” ขอรัฐหาซอฟต์โลนเสริมสภาพคล่อง ปล่อยกู้รายย่อย แก้หนี้นอกระบบ
นางเอ บอกว่า เริ่มต้นจากการกู้เงินเพียงไม่กี่พันบาท เพื่อจะลงทุนซื้อวัตถุดิบ มาทำอาหารไว้ขายแต่ละวัน แต่ไปๆมาๆ ตอนนี้มีหนี้อยู่กว่า 3 หมื่นบาท
ทุก ๆ วันเธอจะต้องหาเงินเพื่อจ่ายคืนให้เจ้าหนี้เฉลี่ยวันละ 1,500 บาท หากวันไหน หาเงินไม่พอจ่ายหนี้ ก็ต้องคอยหลบคนทวงหนี้ที่จะมาทวงเงินถึงบ้าน ซึ่งคนทวงหนี้ส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมให้ผัดผ่อน จะต้องหามาจ่ายให้ได้ หากไม่จ่ายจะถูกข่มขู่ ด่าทอ จนเกิดความอับอาย
นางเอ เปิดยอดหนี้ให้ทีมข่าวดูว่าปัจจุบันเธอมีหนี้อยู่ประมาณ 30,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต้องส่งคืนให้ทั้งหมด 4 เจ้า
เจ้าที่แรกจำนวน 10,000 บาท ส่งวันละ 500 บาท ระยะเวลา 24 วัน
เจ้าที่สองจำนวน 8,000 บาท ส่งวันละ 400 บาท ระยะเวลา 24 วัน
เจ้าที่สามจำนวน 8,000 บาท ส่งวันละ 400 บาท ระยะเวลา 24 วัน
และ เจ้าที่ 4 จำนวน 4,000 บาท ส่งวันละ 200 บาท ระยะเวลา 24 วัน
ซึ่งแต่ละวันต้องจ่ายหนี้รวม 1,500 บาท หากวันไหนหาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้ ก็จะต้องไปกู้เจ้าใหม่ เพื่อเอาไปปิดหนี้เจ้าเก่า แล้วเหลือเงินส่วนต่างมาใช้จ่าย เป็นแบบนี้วนเวียนไปเรื่อยๆ ถ้านับจำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายไป ก็น่าจะเป็นเงินมากกว่าแสนบาทแล้ว และหนี้สินก็ยังไม่หมดเสียที
“ลำบาก ต้องเอาเจ้านั้นมาปิดเจ้านี้ เอามาลงทุน บางทีเราขายของไม่หมด ไม่มีเงินส่งเขา ก็ต้องไปกู้เจ้าใหม่มาปิดเจ้าเดิม เลยกลายเป็น ดินพอกหางหมู ทำให้เป็นหนี้เพิ่ม (จ่ายมากี่ปีแล้ว) เป็นหนี้มาตลอด ถ้าเจ้านี้เราเลิกจ่าย พอมีเจ้าใหม่เข้ามา เราก็เอาเจ้าใหม่ไปเรื่อย”
นางเอ มองว่าที่ผ่านมาโครงการแก้หนี้ของรัฐบาล ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ จะกู้ธนาคาร ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และการยื่นกู้ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เงินมาชำระเจ้าหน้าที่ อยากให้รัฐหาสถาบันการเงินมาปล่อยเงินกู้ให้แม่ค้าตามบ้าน ตามแผงต่างๆแบบรายวัน เหมือนเงินกู้นอกระบบ ให้ชาวบ้านจ่ายรายวันหรือรายเดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดน้อยที่สุด ก็อาจจะแก้ปัญหาได้มากกว่าที่เป็นอยู่