จากกรณีที่มีการแชร์ภาพและคลิปวีดีโอบนโลกออนไลน์ ปรากฏเป็นลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาวในช่วงคืนวันที่ 4 มี.ค.67 และวันที่ 6 มี.ค.67 พบเห็นได้ในหลายพื้นที่ของไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า คือ ดาวตกชนิดลูกไฟ และดาวตกชนิดระเบิด ตามลำดับ ซึ่งหากไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ เราจะไม่ทราบเลยว่าวัตถุที่เห็นบนท้องฟ้าแท้จริงคือแล้วอะไร ทางทีมข่าวพีพีทีวี จึงนำวิธีแยกประเภทวัตถุบนท้องฟ้าจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาฝากกัน
อุกกาบาต! สดร.คาดดาวตกสีเขียวปรากฏเหนือท้องฟ้า เป็น “ดาวตกชนิดลูกไฟ”
ไขปริศนา! ลูกไฟขนาดใหญ่ปรากฏเหนือท้องฟ้าหัวค่ำ 6 มี.ค. คาด “ดาวตกชนิดระเบิด”
รู้จัก! สีของดาวตก ลักษณะแตกต่างขึ้นอยู่กับสองปัจจัย
ดาวตก
ดาวตก เกิดจากเศษชิ้นส่วนของวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการลุกไหม้ และเผาไหม้วัตถุไปในที่สุด ในแต่ละวันนั้นจะมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวง แต่ครึ่งหนึ่งตกมาในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และที่เหลือส่วนมากก็ตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลไม่มีคนสังเกตเห็น
หากเทียบระหว่าง ดาวตก อุกกาบาต และดาวหาง ดาวตกจะมีการเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด ถ้าดูจากในภาพนิ่งจะพบว่าดาวตกและดาวหางมีหางเหมือนกันหมด โดยทั่วไปนั้นดาวตกจะสังเกตเห็นเพียงประมาณไม่กี่วินาทีจนถึงเสี้ยววินาที เว้นเสียแต่เป็นดาวตกที่ลูกใหญ่มาก ๆ หากไม่ได้มีการสังเกตการณ์ท้องฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหันกล้องไปถ่ายภาพดาวตกได้ทัน ด้วยเหตุนี้ ดาวตกจึงมักจะถูกบันทึกโดยกล้องวงจรปิด กล้องหน้ารถ หรือกล้องที่ถ่ายภาพต่อเนื่อง หากเป็นภาพนิ่งก็มักจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ดังนั้น หากสังเกตภาพที่เป็นวิดีโอแล้วมีจุดสว่างลุกวาบขึ้นมาก่อนที่จะหายไป มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นดาวตก
Facebook / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ชื่อเรียกวัตถุบนท้องฟ้า
อุกกาบาต

อุกกาบาตมีต้นกำเนิดเหมือนกับดาวตก แต่เรามักจะใช้คำว่าอุกกาบาตแทน “ก้อน” ที่สามารถหยิบจับได้ และใช้คำว่า ดาวตก แทนปรากฏการณ์สว่างวาบบนท้องฟ้า เข้าใจแบบง่าย ๆ คือ ถ้าเราเห็นเป็นลูกไฟบนท้องฟ้า เราจะเรียกว่า “ดาวตก” แต่ถ้าเราสามารถหยิบมาเป็นก้อนได้จะเรียกว่า “อุกกาบาต” ซึ่งดาวตกส่วนมากมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมีอะไรที่หลงเหลือเป็นอุกกาบาตได้ เนื่องจากอุกกาบาตไม่ใช่ปรากฏการณ์ แต่เป็นคำที่ใช้กับตัวก้อนของดาวตกที่เหลือรอดมายังพื้นดิน เราจึงจะเห็น “อุกกาบาต” ในสภาพที่เป็นก้อนอยู่บนโลกแล้วเท่านั้น ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเห็นอุกกาบาตของจริงคือการไปเยือนที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
Facebook / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ดาวหาง ชื่อ C/2022 E3 (ZTF)
ดาวหาง

ดาวหาง เป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ มีแหล่งกำเนิดห่างไกลออกไป แต่จะมีช่วงที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในซึ่งมีโลกของเราอยู่ในนั้น และเมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ จะมีการระเหยออกทิ้งเป็นก้อนแก๊สและเศษน้ำแข็งขนาดเล็กไปตามวงโคจรของมัน ปรากฏเป็นหางยาวออกมา เราจึงเรียกว่า “ดาวหาง” แท้จริงแล้วดาวหางนั้นอยู่ห่างไกลจากโลกเป็นอย่างมาก หากดูด้วยตาเปล่า จะเห็นว่าดาวหางแทบไม่มีการเคลื่อนที่เลยแต่จะเห็นเหมือน “ลอยค้าง” อยู่บนท้องฟ้าแทน แม้ว่าแท้จริงแล้วดาวหางจะมีการเคลื่อนที่ แต่การเคลื่อนที่ของดาวหางไม่จำเป็นจะต้องเคลื่อนที่ไปตามแนวของหางเสมอไป
นอกจากนี้ ตัวของดาวหางนั้นได้รับแสงสว่างมาจากดวงอาทิตย์ เราจึงมักจะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำหรือรุ่งเช้า โดยห่างจากขอบฟ้าไม่มากนัก และเมื่อดูด้วยตาเปล่าหรือดูจากรูปภาพเราจะเห็นดาวหางปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ ไม่ได้เป็นจุดหรือเส้นที่ชัดเจน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ผลบอลยูโรป้า ลีก รอบ 16 ทีม นัดแรก ลิเวอร์พูล บุกถล่ม สปาร์ต้า ปราก 5-1
ชวนรู้จัก "ดาวตก-อุกกาบาต-ดาวหาง" สามวัตถุนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร
เปิด 15 คำหาเสียง “โดนัลด์ ทรัมป์” หากได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2