“การไปติดต่อราชการ” อาจเป็นความทรงจำที่ไม่ดีนักของใครหลายคน โดยเฉาะระบบราชการไทยที่มีภาพจำตีตราไปแล้วว่า จะต้องยุ่งยาก เชื่องช้า มากความ ใครที่จะติดต่อราชการสามารถลางานทั้งวันเผื่อไว้ได้เลย
แต่ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ประชาชนเท่านั้น เพราะแม้แต่ข้าราชการกันเอง ยังเบื่อระบบราชการเช่นกัน
ผลการสำรวจความเห็นข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ 1,310 คน เรื่อง “ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มี.ค. 2567 พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างถึง 39.47% เบื่อขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน
รองลงมาคือ
31.53% เบื่อระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ
28.24% เบื่อเงินเดือนที่น้อย
22.44% เบื่อตัวชี้วัดทั้งหลาย
20.38% เบื่อโครงสร้างการปกครองหรือสั่งการตามลำดับชั้น
18.93% เบื่อการประสานงานที่ไม่เป็นระบบ
17.02% เบื่อการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความดีความชอบและตำแหน่งที่สำคัญ
16.49% เบื่อการคอร์รัปชันในระบบราชการ
16.18% เบื่อเจ้านาย
15.73% ไม่เบื่ออะไรเลย
14.05% เบื่อเพื่อนร่วมงาน
11.07% เบื่อการทำงานแบบผักชีโรยหน้า
10.23% เบื่อการแทรกแซงของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล
8.47% เบื่อลูกน้อง
7.25% เบื่องานที่มีความเสี่ยงจะผิดกฎระเบียบ
6.41% เบื่อประชาชนที่ไม่เข้าใจในระบบงาน กฎระเบียบของราชการ
ด้านความศรัทธาต่อระบบราชการไทย พบว่า ตัวอย่าง 49.47% ระบุว่า ค่อนข้างศรัทธา รองลงมา 22.52% ระบุว่า ศรัทธามาก, 21.53% ระบุว่า ไม่ค่อยศรัทธา, 6.34% ระบุว่า ไม่ศรัทธาเลย และ 0.14% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลายอย่างที่ทำให้ข้าราชการเบื่อ แต่เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการลาออก หรือการย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ กลับพบว่า 63.04% ไม่อยากลาออกและไม่อยากย้ายหน่วยงาน
รองลงมา 14.89% อยากลาออกจากหน่วยงานของรัฐ, 13.44% อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ, 8.32% ระบุว่า ลาออกหรือย้ายหน่วยงานก็ได้ และ 0.31% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ทั้งนี้ ตัวอย่างทั้งหมดเป็นข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ โดย 1.07% รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท, 29.31% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท, 28.40% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท, 17.10% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท, 15.27% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และ 8.85% ไม่ระบุรายได้
หมายเหตุ: การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
ขอบคุณข้อมูลจาก นิด้าโพล