ไม่มีเงินกลับบ้าน! “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ช่วยได้ เช็กเงื่อนไข-วิธีรับสิทธิ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ไม่มีเงินซื้อตั๋วกลับบ้าน! “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ช่วยได้ กรณีเกิดเหตุอันตราย-ไร้ที่พึ่ง ชวนทำความรู้จักหน่วยงานนี้ พร้อมเช็กเงื่อนไข-วิธีรับสิทธิ

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าชายวัย 50 ปีคนหนึ่งถูกตำรวจปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ หลังโดนล้วงกระเป๋าระหว่างรอเดินทางกลับบ้านที่สถานีรถไฟ ทำให้ไม่มีแม้แต่เงินติดตัวหรือบัตรประชาชน จนต้องเดินทาง 700 กิโลเมตรกลับบ้านเอง

วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจึงอยากพาทุกคนไปรู้จัก “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” กัน เพราะเมื่อไรที่พบปัญหาระหว่างเดินทางกลับบ้าน เกิดไม่มีเงินซื้อตั๋วขึ้นมา หน่วยงานนี้สามารถช่วยเหลือ “จ่ายค่าเดินทาง” ให้ทุกคนกลับถึงบ้านได้!

คอนเทนต์แนะนำ
“วันพืชมงคล 2567” โรงเรียน-ราชการ-เอกชนหยุดหรือไม่
วันพืชมงคล 2567 : เปิดที่มา “วันเกษตรกร” เช็กชื่อเกษตรกรดีเด่น

ไม่มีเงินซื้อตั๋วกลับบ้าน! รู้จัก “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” จ่ายค่าเดินทางให้ถึงที่หมาย ช่างภาพพีพีทีวี
ประชาชนเดินทางกลับบ้าน

รู้จัก “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม”

ศูนย์ช่วยเหลือสังคม คือศูนย์กลางการให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นมาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

โดยมีภารกิจสำคัญ คือเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการได้อย่างทันท่วงที ตรงตามสภาพปัญหา ไปจนถึงการเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมในเบื้องต้นและประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเป็นศูนย์เฝ้าระวังปัญหาสังคมผ่านสื่อต่างๆ

ภารกิจ "ศูนย์ช่วยเหลือสังคม"

สำหรับสิทธิและสวัสดิการของประชาชนที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมให้ความดูแลนั้น มีหลากหลายอย่าง ได้แก่

  • สิทธิและสวัสดิการสำหรับเด็ก อาทิ การอุปการะเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม การคุ้มครองให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน หรือการสงเคราะห์เด็กให้ปลอดภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
  • สิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี อาทิ การได้รับการช่วยเหลือสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง การรับบริการทางแพทย์กรณีคลอดบุตร หรือการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร
  • สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส อาทิ สิทธิและสวัสดิการสำหรับคนไร้ที่พึ่ง สิทธิผู้ตกทุกข์ได้ยากให้กลับภูมิลำเนาเดิม สิทธิและสวัสดิการเกี่ยวกับบ้านพักชั่วคราวคนจนเมือง หรือสิทธิและสวัสดิการเกี่ยวกับที่พักคนเดินทาง
  • สิทธิและสวัสดิการสำหรับคนพิการ อาทิ เงินอุดหนุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาผู้พิการ หรือการสงเคราะห์ครอบครัวผู้พิการ
  • สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ การลดหย่อนค่าโดยสารและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การหักหย่อนลดภาษีเงินได้ การช่วยเหลือเงินเพื่อการยังชีพ หรือการจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อน

สิทธิที่จะได้รับในการขอสวัสดิการกลับภูมิลำเนา

เมื่อได้รู้จัก “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” กันแล้ว แต่ถ้าเกิดเหตุไร้เงินกลับภูมิลำเนา สิ่งที่ศูนย์ฯ จะให้ความช่วยเหลือ มีดังต่อไปนี้

  • ค่าอาหารระหว่างรอรับการช่วยเหลือ และระหว่างเดินทางกลับให้เหมาจ่ายในอัตรา วันละไม่เกิน 100 บาทต่อคน
  • ค่าพาหนะ ให้คำนึงถึงการประหยัดในอัตราต่ำสุด และกรณีต้องส่งตัวผู้ตกทุกข์ได้ยากกลับภูมิลำเนาพร้อมกันหลายคน ให้เบิกจ่ายค่าจ้างเหมายานพาหนะได้เท่าที่จ่ายจริงเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราว โดยต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
  • ค่าพักแรม กรณีจำเป็นต้องพัก ให้เบิกจ่ายค่าเช่าที่พักได้ในอัตราต่ำสุดของอัตราค่าเช่าในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต้องไม่เกินอัตราค่าเช่าที่พักต่ำสุด (พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายเดินทาง) ยกเว้น การพักแรมในยานพาหนะที่เสียค่าโดยสารหรือที่พักซึ่งทางราชการได้จัดให้
  • ค่ารักษาพยาบาล กรณีเกิดการเจ็บป่วยระหว่างรอรับการสงเคราะห์ ระหว่างการเดินทาง ให้ใช้บริการจากโรงพยาบาลของทางราชการประเภทผู้ป่วยนอกอนาถา และให้เบิกค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยประหยัดในอัตราไม่เกิน 100 บาทต่อคน

เงื่อนไขการขอสวัสดิการกลับภูมิลำเนา

การขอรับสิทธสวัสดิการกลับภูมิลำเนานั้น จะต้องตรงกับเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยมีสาเหตุมาจากเป็นคนไร้ที่พึ่ง ไร้อาชีพ เจ็บป่วย ชรา ประสบภัยพิบัติ หรือตกอยู่ในภาวะอันตราย
  • มีภูมิลำเนาในประเทศไทยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเดิมหรือเคยตั้งหลักแหล่งหรือประกอบอาชีพอยู่เป็นสำคัญ และให้หมายความรวมถึงภูมิลำเนาของญาติหรือผู้อุปการะในกรณีที่จำเป็นเฉพาะราย

ทำอย่างไรเมื่อไร้เงินกลับบ้าน

  • ประสานศูนย์ช่วยเหลือสังคมโทร 1300
  • ส่งมอบเอกสารประกอบการพิจารณาและอนุมัติความช่วยเหลือ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน, ใบสำคัญรับเงิน และภาพถ่ายขณะรับมอบ
  • นักสังคมสงเคราะห์สอบข้อเท็จจริงพิจารณาช่วยเหลือ แล้วบันทึกลงในแบบสำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมตามที่กรมฯ กำหนด เพื่อเสนออธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายอนุมัติ

การให้บริการสายด่วนศูนย์เหลือสังคม

สายด่วน 1300 ให้บริการตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

รวม “สถานที่ไหว้ดาวพฤหัส” เสริมโชคลาภ บารมี รับดาวพฤหัสย้าย 2567

พยากรณ์อากาศล่วงหน้า เริ่มมีสัญญาณฝน เตรียมชุ่มฉ่ำ 3-9 พ.ค.

วิเคราะห์บอล แชมเปี้ยนส์ ลีก! บาเยิร์น พบ เรอัล มาดริด 30 เม.ย.67

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ