ยังเป็นกระแสวิจารณ์กรณีวุฒิการศึกษาระดับลปริญญาเอกและตำแหน่งวิชาการศาสตราจารย์ ของหมอเกศ สมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะคำถามที่ว่าตกลง California University เป็นมหาวิทยาลัยหรือไม่ ล่าสุดคนไทยที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯก็ยืนยันอีกเสียงว่า ไม่ใช่มหาวิทยาลัย ไปดูคลิปที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวพาไปพิสูจน์กัน
โดยพันจ่าโทสิทธิกร กันใจยา หรือ จ่าโอ เจ้าหน้าที่ในกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับฝ่ายตรวจสอบวุฒิการศึกษาและเอกสารผู้ที่จะสมัครเข้าทำงานในกองทัพเรือมาถึง 23 ปี
โดยจ่าโอ พาไปดูอาคารที่ถูกระบุว่า เป็นที่ทำการ California University ก่อนจะได้รับข้อมูลยืนยันจากพนักงานรักษาความปลอดภัยในอาคารว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารให้ปล่อยให้บริษัทต่างๆไม่ใช่มหาวิทยาลัย
จ่าโอให้ข้อมูลกับพีพีทีวีว่า ในการทำงานให้กองทัพเรือสหรัฐ เขาต้องตรวจสอบมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบเอกสารผู้ที่มาสมัครงาน โดยตรวจสอบกับระบบที่ใช้ตรวจชื่อสถานศึกษาโดยตรง แน่นนอนว่าไม่มีชื่อของ California University เขายังพาไปชมสภาพของมหาวิทยาลัยทั่วไปด้วยว่ามีสภาพอย่างไร
นอกจากนี้เขายังระบุว่า เมื่อตรวจสอบเอกสารที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อ จะพบความผิดปกติมากมาย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ในไทยตรวจสอบก็น่าจะทราบได้ไม่ยากเช่นกัน
โดยเขาได้อธิบายหนึ่งในข้อสังเกตที่มีการแถลงข่าวอ้างว่าเอกสารวุฒิการศึกษาจาก California University นั้นได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาและกระทรวงต่างประเทศว่า
ในสหรัฐฯทั้งสองกระทรวงจะไม่มีหน้าที่รับรองเอกสารของมหาวิทยาลัย แต่อำนาจจะอยู่ที่ผู้ว่าการของแต่ละรัฐ ดังนั้นหากมีการอ้างว่าทั้ง 2 กระทรวงรับรองเท่ากับว่าเอกสารเป็นของปลอม ซึ่งเขาก็เตรียมนำข้อมูลไปแจ้งความและตรวจสอบผู้ที่ลงชื่อในเอกสารที่ระบุว่าเป็นเลขานุการรัฐด้วย
“เห็นแกบอกว่าตีความหมายตรงนี้อะไรนะ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ ผมบอกหลายครั้งแล้วนะครับ กระทรวงการศึกษาเนี่ย เขาก็ไม่มายุ่งกับเอกสารเหล่านี้หรอกเพราะว่ามหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้นแต่ละรัฐ ผู้ว่าการรัฐจะเป็นคนจะเป็นผู้ที่เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่างๆ นี่คือผมดูได้เลยเดี๋ยวผมจะไปฟ้องด้วยนะ เลขานุการรัฐแคลิฟอร์เนียผมก็อยากรู้เหมือนกันเลขานุการรัฐมาทำอะไรกับเอกสารตัวนี้ ผมจะไปฟ้องอเมริกาด้วย”
นอกจากนี้ จ่าโอ ยังชี้ให้ดูข้อสังเกตบนใบปริญญา ที่มีตราประทับสีทอง โดยบอกว่า ตราประทับของอเมริกาจะมีความหมาย หรือความสำคัญน้อยกว่าในไทย โดยแต่ละรัฐ 50 รัฐก็มีตราประทับของตัวเอง แต่ของข้าราชการจะไม่มีตราประทับ จะใช้การลงชื่อหน่วยงานในเอกสารแทน
อีกจุดที่ผิดปกติ คือ จำนวนตัวหนังสือในใบปริญญาที่มีค่อนข้างมาก และตัวเล็ก ต่างจากใบปริญญา หรือประกาศนียบัตรที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาออกให้ ที่มีตัวหนังสือน้อยกว่า ขณะที่ตัวเลขที่เหมือนเลขไอดีในใบปริญญา เมื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบกับที่มีอยู่ในสารบบก็จะไม่พบตัวเลขดังกล่าว