"ปลาหมอคางดำ" เอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบแอฟริกา ก่อนมาแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในประเทศไทย ถูกจับมาทำเป็นเมนูหลากหลาย เพื่อลดจำนวนประชากร และยับยั้งการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งนอกจากเมนูปลาหมอคางดำที่เคยถูกพูดถึงทั่วไปแล้ว หากย้อนไปเมื่อช่วงปลายปี 2560 พีพีทีวี เคยนำเสนอเกี่ยวกับเมนูปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม พบกับ ประทุม อมศิริ แม่ครัวร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงเรียงนามในการประกอบอาหารประเภทเมนูปลา และเคยนำปลาหมอคางดำไปประกอบอาหารมาแล้ว พร้อมประกอบ 3 เมนู คือ ผัดฉ่าปลาหมอสีคางดำ, แกงเผ็ดปลาหมอสีคางดำ, และ ปลาหมอสีคางดำทอดน้ำปลา
สำหรับปลาหมอสีคางดำ หากเทียบกับปลาชนิดอื่นแม้ว่าจะประกอบอาหารได้ไม่ยาก แต่จะแตกต่างกันที่รสชาติ โดยรสชาติของปลาหมอคางดำจะไม่ค่อยหวานอย่างปลาชนิดอื่น ๆ ส่วนเนื้อจะมีความแน่น แข็งกว่าปลาหมอเทศ
โดยผู้สื่อข่าวได้นำปลาที่เตรียมไว้มาให้ แม่ครัวก็ลงมือ เตรียมเครื่องเคียง เอาปลาที่แล่แล้วลงลงทอด ระหว่างนี้ ก็เตรียมทำเมนูต่อไป เอาปลาลงไปต้ม ใส่เครื่องแกงเผ็ด พอน้ำเดือดได้ ได้กลิ่นหอม ก็เริ่มปรุงรสอีกเมนู เตรียมพริกไทยอ่อน กระชายซอย พริกแดง ใบมะกรูด และใบโหรพา ไม่นานเมนูที่ทำไว้ก็เสร็จได้ที่ และหากดูจากหน้าตาก็ไม่ต่างจากเมนูปลาทั่วไป
สำหรับปลาหมอสีคางดำ แม้ว่าจะสามารถนำมาทำอาหารกินได้ แต่ในมุมของกรมประมง ไม่ส่งเสริมให้บริโภค เพราะกังวลว่า อาจมีคนนำไปเพาะเลี้ยง ทำให้ปลาชนิดนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำลายระบบนิเวศท้องถิ่น การจับปลาจากคลองธรรมชาติ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยกำจัดปลาหมอสีคางดำได้ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ขณะเดียวกันไม่ใช่ปลาหมอสีคางดำทุกตัวที่จะเอามาทำอาหารกินได้ ต้องเป็นปลาตัวใหญ่เท่านั้น และช่วงชีวิตของปลาชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่กับการวางไข่ และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จึงโตช้า ตัวเล็ก ก้างใหญ่เนื้อน้อย เพราะเหตุนี้คนท้องถิ่นจึงไม่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ลอตเตอรี่ 16/7/67