วันที่ 18 ก.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ทางอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับทั้งสองสำนวนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567
จากนั้น อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น จนต่อมาวันที่ 12 ก.ย. อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม
รวมวิธีสมัครพร้อมเพย์ผูกเลขบัตรประชาชน รับ "เงินดิจิทัล"
สรุปผลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นัดแรก บาเยิร์น-ลิเวอร์พูล-มาดริด คว้าชัย
อัปเดต เส้นทางพายุ “ดีเปรสชัน” จ่อขึ้นฝั่งเวียดนาม เคลื่อนปกคลุม “อีสาน-เหนือ”
ประกอบด้วย พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ประกอบด้วย ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส เป็นผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม เป็นผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร เป็นผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว เป็นผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ เป็นผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ เป็นผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ เป็นผู้ต้องหาที่ 8
โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
ซึ่งทางอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ต.ค.2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง โดยขาดอายุความอายุความคดีอาญา 20 ปี
ส่วนสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พลเอกเฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของตำรวจและคดีของราษฎร ส่วนจะมีรวมสำนวนคดีทั้งของตำรวจและราษฎรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล สำหรับการพิจารณาในเรื่องของอายุความ ขึ้นอยู่กับที่ศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้แล้ว ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล
นายประยุทธ บอกอีกว่า สำหรับในสำนวนคดีของราษฎร ซึ่งมี พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้ง มีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้พลเอกพิศาล แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้พลเอกพิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณานานมาจากเหตุผลใด แต่ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกมีการใช้เวลาสั่งฟ้องนาน และย้ำว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ละคร