จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่วิกฤตหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ล่าสุดนายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ทีมกรุ๊ป วิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ที่รุนแรง และขยายเป็นวงกว้าง มีปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งพายุยางิ แล้วต้องระบายน้ำผ่านลุ่มน้ำปิงก็ทำให้ดินชุ่มน้ำไปก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ร่องความกดอากาศเย็นกำลังแรง จากจีนมาปะทะ กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นจากอันดามัน และอ่าวไทย มาปะทะเป็นแนวยาว พาดผ่านบริเวณเชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, นครสวรรค์, อยุธยา ก็ทำให้ฝนตกหนัก
อย่างในพื้นที่เชียงใหม่ ที่อำเภอฝาง และอำเภอฮอด มีฝนตกหนักแทนที่น้ำฝนที่ตกลงมา จะเหลือเป็นน้ำท่า หรือน้ำในลำธารที่เกิดจากฝน 40 เปอร์เซนต์ แต่ฝนตกครั้งนี้เป็นน้ำท่า 80-90 เปอร์เซนต์ เพราะพื้นดินชุ่มน้ำไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และแก้มลิงอื่นๆ ที่เกือบเต็มตั้งแต่พายุยางิ จึงทำให้มวลน้ำก้อนใหญ่ล้นตลิ่งเข้าท่วมเป็นวงกว้าง
นายชวลิต ยังวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนในพื้นที่เชียงใหม่ ก็พบว่า วันนี้ฝนที่ตกในเชียงใหม่เริ่มลดลงแล้ว มีเพียงที่อำเภอสันทราย และอำเภอหางดง ที่ตกในปริมาณ 40 มิลลิเมตร ขณะที่อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว และอำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นลำน้ำขาสาของลุ่มน้ำปิง ฝนตกน้อยเช่นกัน
ส่วนมวลน้ำจากลุ่มน้ำปิง ที่มาจากอำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว และอำเภอแม่แตง ซึ่งจะรวมกันที่อำเภอสันทราย ก่อนถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่ ปริมาณน้ำก็ลดลง เพราะได้ผ่านจุดสูงสุด จากมวลน้ำก้อนใหญ่ไปแล้ว
ตอนนี้น้ำลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังล้นตลิ่งอยู่ ซึ่งก็คาดการณ์ว่า 2 วันหลังจากนี้ น้ำถึงจะลดต่ำกว่าตลิ่ง ขณะในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น ตำบลป่าแดด จะใช้เวลาราวสัปดาห์ถึงจะระบายน้ำออกได้หมด ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ฝนนั้น ระยะเวลาตั้งแต่วันนี้ ยาวไปจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม จะไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม ซ้ำเติมสถานการณ์ในพื้นที่
ประเด็นที่หลายคนกังวลว่า น้ำเหนือก้อนนี้จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคนหรือไม่นั้น นายชวลิต อธิบายว่า มวลน้ำเหนือที่เชียงใหม่ จะไหลลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้รับน้ำได้ เพราะน้ำยังไม่เต็มความจุของอ่าง เช่นเดียวกับเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำยังไหลเข้าน้อย คาดว่า จะเต็มความจุในช่วงปลายเดือนตุลาคม
ส่วนน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อนนั้น จากการวิเคราะห์โดยนำข้อมูลปริมาณฝนสูงสุดเมื่อปี 2538 มาวิเคราะห์ ก็ปรากฎว่า ปริมาณน้ำจากแม่น้ำ 4 สายหลัก ปิง, วัง, ยม, น่าน โอกาสที่ปริมาณน้ำสูงสุดจะไหลจังหวัดนครสวรรค์ยังไม่เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่าเมื่อปี 2554 ที่ปริมาณน้ำสูงสุดที่ 4,500 เมตรต่อวินาที คิดเป็น 3 ใน 4 ของปี 2554 เท่านั้น
นายชวลิต ย้ำว่า ขณะนี้สถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยาที่มีการเพิ่มอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อน ที่น่ากังวลคือ นอกจากจะจะทำให้พื้นที่นอกคันน้ำน้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีกราว 30 เซนติเมตร แต่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ บริเวณคันกันน้ำ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปราะบาง อย่าให้แตก เพราะถ้าแตกจะทำให้น้ำทะลักขยายเป็นวงกว้าง รวมทั้งต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ด้วย