จากกรณีที่บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ปจำกัด ยื่นฟ้อง ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย
ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย และต่อมาศาลได้สั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นั้น
ล่าสุด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลมีคำพิพากษา จำคุก 2 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รอลุ้นประกันตัว อย่างไรก็ตาม หาก ดร.พิรงรอง ไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็นสมาชิก กสทช. ทันที
สำหรับ ดร.พิรงรอง รามสูต หรือ “อาจารย์ขวัญ” ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เป็นบุตรสาวของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ธีระ รามสูต และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พันธุ์ทิพย์ รามสูต ซึ่งทั้งสองท่านเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการก่อนเกษียณอายุราชการ
ด้านการศึกษา ดร.พิรงรอง รามสูต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการสื่อสาร (M.A. in Communication) ที่ University of Hawaii at Manoa ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการสื่อสาร จาก Simon Fraser University ประเทศแคนาดา
เส้นทางการทำงาน ดร.พิรงรอง รามสูต เริ่มต้นอาชีพของตนในฐานะนักข่าวและผู้เรียบเรียงข่าว (Reporter-Rewriter) ให้กับหนังสือพิมพ์ The Nation ระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2533 หลังจากนั้น ได้เข้ารับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของคณะในเวลาต่อมา
นอกจากบทบาทในฐานะนักวิชาการและอาจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ยังมีบทบาทสำคัญในงานบริหาร โดยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 โดยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัยและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติ
ดร.พิรงรอง มีผลงานโดดเด่นหลายด้าน เช่น การเป็น 2 ใน 7 เสียงที่คัดค้านการควบรวมกิจการของ "ทรู-ดีแทค" เพราะเห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นอกจากนี้ ยังทำระบบ Social Credit ติดตามเนื้อหาทั้งคอนเทนต์ที่เป็นปัญหา เช่น เรื่องโป๊เปลือย เซ็กซ์ โฆษณาแฝง รวมถึงมอนิเตอร์เนื้อหาเชิงบวกที่ส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายที่อาจถูกมองข้าม เช่น เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ ใครทำเนื้อหาเหล่านี้จะได้คะแนนเพิ่ม ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสื่อระมัดระวังในการนำเสนอ และเป็นแรงจูงใจให้ผลิตคอนเทนต์ดี ๆ ออกมาเพื่อให้ได้รับ Social Credit ที่ดีตามไปด้วย