รายการ "UNLOCK THE CASE" ร่วมพูดคุยกับ ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ คำมาก ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ หนึ่งในทีมจับกุม Sim Box กว่า 642 เครื่องกลางเมืองเชียงใหม่ ไขคำตอบไปพร้อมกัน อุปกรณ์เสริมสำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชิ้นนี้ ทำไมต้องติดตั้งไว้กลางเมืองในสถานที่คนพลุกพล่าน และประชาชนจะมีส่วนช่วยในการเฝ้าสังเกตความผิดปกติของเพื่อนบ้านที่อาจมี Sim Box ได้อย่างไร
รู้จัก Sim Box ในมือโจรออนไลน์
โดยว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ อธิบายว่า Sim Box เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งที่จะไปถึงเหยื่อ โดยคนร้ายจะก่อเหตุก็จะต้องโทรผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ตัวเหยื่อมีจำนวนมาก คนร้ายเลยต้องใช้อุปกรณ์นี้มาช่วย โดยตัว Sim Box จะมีช่องสำหรับเสียบซิมโทรศัพท์มือถือเข้าไป ซึ่งสำหรับเครื่อง Sim Box เครื่องเล็กสุดมี 32 สล๊อต(ช่องเสียบซิม) ซึ่งความถี่ในการโทรที่จะทำได้แต่ละครั้ง 1 วินาทีจะสามารถโทรได้ 100,000 เบอร์ ซึ่งเป็นการโทรที่เร็วมากเพราะโทรผ่านอุปกรณ์ (หากเหยื่อรับสาย ก็จะมีการส่งต่อไปที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกทอดหนึ่ง)
นอกจากนั้นจะมีเครื่อง Sim Box อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการใช้ OTP (One Time Password) คือ รหัสผ่านที่สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวต่อการเข้าสู่ระบบหนึ่งครั้ง ซึ่งตัวเครื่องดังกล่าวจะส่งสัญญาณเป็นข้อความไปหาระบบ เพื่อให้ได้ OTP มา เมื่อเขาได้ OTP มาแล้วก็จะนำไปยืนยันโซเชียลแอคเค้าท์ แล้วก็จะเอาโซเชียลแอคเค้าท์เหล่านั้นไปหลอกคน ซึ่งมูลค่าในการทำลักษณะนี้เขาสามารถทำได้ โดยคำนวณจากยอดที่เราสามารถจับกุมได้สูงที่สุดคือ 642 เครื่อง จะตกประมาณ 1,200,000 ครั้งต่อนาที
ต้นทางโทรหลอกเหยื่อ-โซเชียลแอคเค้าท์ปลอม
ซึ่งสรุปได้ว่าเครื่อง Sim Box มุมหนึ่งคือเอาไว้โทรหาเหยื่อเพื่อหลอก เหมือนที่หลายๆ คนได้รับสายกันทุกวัน อีกมุมหนึ่งคือใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างโซเชียลแอคเค้าท์ไว้หลอกอีกทางหนึ่ง โดยว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ ยืนยันว่า เครื่อง Sim Box ถือเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญสำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะเอาไว้ทำสำหรับการการเทรดเงิน การใช้บัญชีม้าต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้หากจะย้อนรอยจุดตั้งต้นการใช้เครื่อง Sim Box ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ อธิบายว่า เครื่อง Sim Box เป็นระบบที่มีมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยเป็นเครื่องที่เอาไว้โทรหาลูกค้า ของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของแต่ละบริษัท ซึ่งเครื่อง Sim Box ที่ถูกกฎหมาย และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กสทช.ก็มี แต่เครื่อง Sim Box ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้จะไม่ถูกขึ้นทะเบียน
ทำไมต้องซุก Sim Box ไว้ในชุมชนเมือง
ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ อธิบายว่า เครื่อง Sim Box เวลามีปัญหาติดขัด คนดูแลจะต้องเดินทางมาดูแล ซึ่งจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่เขาสามารถดูแลได้ ส่วนการนำไปไว้ในพื้นที่ชุมชน เพราะผู้ให้บริการจะเห็นว่าเป็นการใช้งานเครือข่ายแบบปกติ แต่หากอยู่ในทุ่งนา แต่มีการใช้มากกว่าผิดปกติ เขาก็จะเห็นว่ามันผิดสังเกตุก็จะทำให้ถูกตรวจจับได้ง่าย จึงมักมีการนำ เครื่อง Sim Box ไว้ตามบ้านเช่า แฟลต ที่อยู่ติดกับชุมชนเมือง ที่มีคนใช้งานเครือข่ายหนาแน่นอยู่แล้ว
ส่วนการจะจับพิรุธการใช้งานเครื่อง Sim Box ผ่านการดูจากการมช้งานเครือข่ายนั้น ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก และไม่สามารถวิเคราะห์ได้ขนาดนั้น และเป็นการดูได้ยากมาก
ย้อนปฏิบัติการ “บุกรังโจรกลางเมืองเชียงใหม่”
ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ เล่าว่า สำหรับกรณีการจับกุม Sim Box กว่า 642 เครื่องกลางเมืองเชียงใหม่นั้น เริ่มมีเบาะแสมาจากศุลกากร ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่าพัสดุที่ส่งมาผ่านแอร์เมล์มีความผิดปกติ โดยมีการส่งมาจากหลายประเทศด้วยกัน แต่ครั้งนั้นเป็นการส่งอุปกรณ์ starlink (ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากดาวเทียม) ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวและเริ่มปิดกั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้เขามีการลักลอบส่งอุปกรณ์ starlink เข้ามา
หลังจากนั้นตำรวจจึงมีการไปตรวจค้นผู้รับพัสดุดังกล่าวว่ามีความเกี่ยวข้องยังไง ทำให้เริ่มเจอ เครื่อง Sim Box ซึ่งพบว่าเป็นขบวนการเดียวกัน แต่การจับกุมครั้งแรกได้แค่ 96 เครื่อง เพราะผู้ต้องหาซึ่งเป็นคนจีนและภรรยาชาวไทยได้หลบหนีไป หลังจากนั้นตำรวจก็เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหา จนพบความเคลื่อนไหวว่ามีการไปเช่าบ้านในพื้นที่เชียงใหม่ 10 กว่าหลัง ก็เลยเข้าตรวจค้น จนพบ เครื่อง Sim Box กว่า 642 เครื่อง
“จีนเทา” ภัยคุกคามที่มากก่าวการหลอกลวง!
ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ เล่าอีกว่า ส่วนใหญ่กลุ่มเจ้าของ หรือผู้ที่ครอบครอง Sim Box จะเป็นชาวจีน ซึ่งเขาจะมีภรรยาและมีลูกอยู่ที่ประเทศจีน แต่ก็จะมามีภรรยาและลูกอยู่ที่ประเทศไทยอีกทีหนึ่ง บางทีเขาก็อาจจะใช้ภรรยาและลูกที่เป็นคนไทยถือครองทรัพย์สิน เป็นนอมินี ซึ่งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่อยู่เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามาเทคโอเวอร์หมดแล้ว
ส่วนที่มาของ เครื่อง Sim Box เหล่านี้จะเป็นการลักลอบนำเข้ามาทั้งหมด ไม่ได้ผ่านวิธีการทางศุลกากร โดยจะขนผ่านกองทัพมด หรือพวกกลักลอบขนของผ่านตะเข็บชายแดน ซึ่งจะมีบริษัทรับผลิตที่ประเทศจีนอยู่แล้ว ส่วนจะนำไปใช้ถูกหรือผิดกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการใช้ เครื่อง Sim Box ไม่ได้หลอกเฉพาะคนไทย เพราะจากหลักฐานการจับกุมพบว่ามีซิมการ์ดจากหลายประเทศ ทั้ง ฮ่องกง เยอรมัน ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
มูลค่าหลักหมื่น ใช้หลอกลวงได้หลักล้าน!
ทั้งนี้สำหรับ เครื่อง Sim Box เครื่องเล็ก มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นบาท แต่ถ้าเครื่องใหญ่มูลค่าอาจถึงหลักแสน แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าที่เขาสร้างได้ โดย OTP หนึ่งที่เขาได้มาสามารถนำไปขายได้ 1 หวย หรือประมาณ 5 บาท ถ้า 1 นาที น่าจะได้มูลค่าสูงถึง 6 ล้านบาท โดยหลังจากได้ OTP มาแล้วก็จะเอา มาขายในโซเชียลมีเดียอีกทีหนึ่ง เหมือนขายซิมม้า บัญชีม้า ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดได้เยอะเลย
ทั้งนี้โซเชียลแอคเค้าท์เป็นสิ่งสำคัญมากในการหลอกลวง อาทิ การหลอกลงทุน ก็จะใช้โซเชียลแอคเค้าท์ทักไปพูดคุยกับเหยื่อ หากเหยื่อเผลอไปพูดคุย ก็จะพูดคุยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการหลอกชวนลงทุน สร้างความฝันไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้เกิดจากการใช้เวลา หากเหยื่อคนไหนติด้บ็ดเขาก็เริ่มลงมือ ซึ่งบางคนโดนหลอกเป็น 10 ล้านบาทยังไม่รู้ตัว คิดว่าได้ลงทุนจริงคิดว่าจะมีวันที่วาดฝันไว้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตามหากไม่มี Sim Box โซเชียลแอคเค้าท์ไม่เกิด หรือการโทรหลอกเหยื่อก็จะเกิดน้อยลง ไม่เยอะเหมือนการมี Sim Box อย่างในปัจจุบันที่หลอกลวงเหยื่อได้เยอะ
Sim Box มิจฯข้างห้อง อาชญากรประตูถัดไป
ส่วนข้อสังเกตุของคนทั่วไปหรือผู้ให้บริการห้องเช่า ที่จะสามารถจับพิรุธฐานที่มั่น Sim Box ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้อย่างไรนั้น ว่าที่ พ.ต.อ.นพรัตน์ เล่าอีกว่า คิดว่าตัวผู้เช่าที่อยู่ข้างๆ อาจจะไม่รู้ แต่คนที่สำคัญเลยคือตัวผู้ให้เช่า ซึ่งผู้ให้เช่าควรจะตระหนักถึงว่าผู้ที่มาเช่าเขาเช่าเพื่ออะไร ก็ต้องสอดส่องดูแลบ้าง
อย่างกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการเช่าบ้านเป็น 10 หลัง ซึ่งก็เยอะเกินไปแล้ว ควรจะต้องสอดส่องบ้าง แต่ถ้าตามหอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์ ผู้ดูแลหรือนิติบุคคลรู้อยู่แล้วว่าแต่ละห้องทำอะไร ซึ่งหากเห็นว่าผิดสังเกตุก็สามารถแจ้งมาได้เลย