บุหรี่ไฟฟ้าใกล้รั้วโรงเรียน : ภาพสะท้อนการละเลยเด็กของผู้ปกครองและชุมชน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

บุหรี่ไฟฟ้าใกล้รั้วโรงเรียน ภาพสะท้อนปัญหาการละเลยเด็กของผู้ปกครองและชุมชน ทำเด็กเข้าถึงง่าย เผชิญหลายอิทธิพลเสี่ยง กับวิธีแก้ที่ไม่ใช่แค่จากสถาบันครอบครัว

ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า นอกจากจะเป็นอุปกรณ์สำหรับสูบนิโคติน ยังกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้ใช้ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาและสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่ต่างจากเสื้อผ้า ทรงผม หรือเครื่องประดับที่เลือกใช้เพื่อสื่อสารความเป็นตัวเองสู่สังคม

แนวคิดเรื่อง Self-Identity หรืออัตลักษณ์ส่วนบุคคลในทางจิตวิทยา อธิบายว่า มนุษย์มักแสดงออกถึงตัวตนผ่านการเลือกใช้สิ่งของและพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับโลกภายนอกว่า “ฉันคือใคร” และ “ฉันอยากให้คุณมองฉันอย่างไร”

คอนเทนต์แนะนำ
บุหรี่ไฟฟ้า : เจาะภัยร้ายระบาดเพิ่มในเยาวชน กับอันตรายที่หลายคนมองข้าม
บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน กับกฎหมายและการบังคับใช้ที่ยังเป็นข้อถกเถียง
เตือน! ซื้อ-ขาย หรือ ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เจอโทษหนัก

บุหรี่ไฟฟ้าใกล้รั้วโรงเรียน : ภาพสะท้อนการละเลยเด็กของผู้ปกครองและชุมชน Freepik/ArthurHidden
บุหรี่ไฟฟ้าใกล้รั้วโรงเรียน : ภาพสะท้อนการละเลยเด็กของผู้ปกครองและชุมชน

บุหรี่ไฟฟ้าจึงอาจกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผู้คนเลือกใช้ในการบอกเล่าความเป็นตัวเอง

หากมองในเชิงสุขภาพหรือกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้าอาจยังเป็นประเด็นถกเถียงในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ยังมีข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย แต่หากมองในมุมของอัตลักษณ์ส่วนบุคคล มันได้กลายเป็นมากกว่าแค่ของเสพติด แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างและสื่อสารความเป็นตัวตนในสังคมสมัยใหม่

ทำไมเด็กเลือกบุหรี่ไฟฟ้า?

ผศ.ดร.วิไลภรณ์ โคตรบึงแก อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเป็นในมุมมองของนักสังคมสงเคราะห์ ที่ถูกสอนให้มองทั้งเด็กและสภาพแวดล้อม หากเริ่มจากตัวเด็ก คิดว่าตามช่วงวัยที่แพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเยอะ หลัก ๆ น่าจะเกิดจากความอยากรู้อยากลอง หรือการชักชวนของเพื่อนๆ

ที่สำคัญ คือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย มีการนำเสนอลักษณะของไอดอล ความเท่ ทันสมัย และอาจจะมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นอันตรายหรือไม่ และหากมองจากสิ่งแวดล้อม คือ มองว่าการรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะนวัตกรรมบุหรี่ไฟฟ้าไปไกลมาก บางครั้งในกลุ่มของผู้ปกครองอาจจะแยกไม่ออก ว่าอันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคล้าย Art toy จึงไม่สามารถเช็กได้ว่าลูกถือหรือพกอะไรมาจากโรงเรียน

แต่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ปกครองอาจจะขาดทักษะพ่อแม่ การเป็นแบบที่ดีให้ลูก อย่างกรณีที่พ่อแม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือสารเสพติดอย่างอื่น โดยปราศจากความระมัดระวัง ทำให้เด็กเลียนแบบ รวมถึงการมองทั้งระบบ ทางสมาคมนักสังคมสงเคราะห์เคยอบรมบุคลากรทางการศึกษาของ กทม. ทราบข้อมูลจากทางคุณครูว่าที่จริงแล้ว ครูก็เห็นปัญหา แต่การตรวจค้นกระเป๋า หรือการยึด ก็ยังมีช่องว่างทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ครูไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ด้าน ดร.ชาญ  รัตนะพิสิฐ อาจารย์ประจำหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา และหัวหน้าศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การที่เยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพราะหาซื้อง่าย และอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ตัวการ์ตูน ปากกา หรือรูปทรงที่ดูไม่ค่อยออกว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีการตรวจอายุก่อนซื้อเหมือนบุหรี่ปกติ  พกพาง่าย ไม่สะดุดตา อีกทั้งมีกลิ่น รสชาติหลากหลาย กลิ่นไม่ติดตัว และเป็นความเข้าใจเอาเองว่าควันหรือกลิ่นรบกวนผู้อื่นน้อยกว่าบุหรี่ปกติ

รวมถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือครู บางครั้งอาจจะมีภารกิจมากเกินไปจนไม่มีเวลามาดูแลหรือมีการใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเพียงพอ และอาจเป็นเพราะต้องการทำตามเพื่อน หรือแบ่งกันใช้กับผู้อื่นที่สนิทด้วย ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น

นอกจากนี้ ยังมองว่าโซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์มีบทบาททำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเครื่องมือแสดงตัวตนของเยาวชน เพราะช่วงที่ไม่ได้เข้มงวดก็เห็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือคนที่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนถ่ายรูปลงโซเชียล ทั้งที่ยังมีบุหรี่ไฟฟ้าห้อยคอ หรือถืออยู่ หรืออาจจะหยิบมาใช้ทั้งๆ ที่ยังมีการ live หรืออัดคลิป

ดังนั้น คนรุ่นใหม่เห็นเป็นเรื่องปกติ เกิดการคล้อยตามกันและรู้สึกว่าผลเสียไม่ได้เทียบเท่าบุหรี่มวน และคนอยู่ในกลุ่มก็ไม่ได้แสดงท่าทีรำคาญ หรือรังเกียจ อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นบรรทัดฐานสังคมรุ่นใหม่ที่ยอมรับได้ ทั้งๆ ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีโทษ หรือผลเสียต่อร่างกายผู้สูบหรือคนรอบข้างไม่ต่างจากบุหรี่ปกติ

บุหรี่ไฟฟ้าใกล้รั้วโรงเรียน : ภาพสะท้อนการละเลยจากชุมชน หรืออาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ผศ.ดร.วิไลภรณ์ กล่าวถึงการขายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานีตำรวจ โรงเรียน ว่า ชุมชนควรเป็นพื้นที่สำคัญในการเฝ้าระวัง และ Early Detect คือ การที่เห็นปัญหา จากที่กล่าวอ้างถึงโรงเรียนเป็นปลายทางว่า เด็กอาจจะใช้แล้ว หรือมีการแพร่ระบาดแล้ว แต่ในชุมชน การที่มีการขายอย่างเสรี แม้ไม่เสรีมากแต่ก็เป็นที่รู้กัน ว่าในบริเวณชุมชน โรงเรียน มีที่ขายตรงไหน เป็นเรื่องของการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป็นช่องว่าง หรือขาดการตระหนักรู้ของคนในชุมชน อีกทั้งไม่มีช่องทางการแจ้งเบาะแสที่ปลอดภัย ทำให้คนในชุมชนรู้ แต่ไม่รู้จะไปแจ้งที่ไหนที่จะทำให้เจ้าตัวปลอดภัยด้วย หรือการมีประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลักษณะนี้

โดยหากมองในเชิงระบบย้อนกลับมา ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้จริง ๆ ต้องดูการทำงานกับตัวเด็ก ครอบครัว โรงเรียน และมาตรการทางกฎหมาย หรือการทำงานกับชุมชน สร้างภูมิต้านทานหรือติดอาวุธให้เด็ก ๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้า สารเสพติด หรือสิ่งที่เข้ามาล่อตาล่อใจที่เป็นลักษณะของการทำผิด อาจจะต้องมาทำงานกับเด็กอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งในเรื่องการสร้างทักษะการปฏิเสธ ทักษะการคิดวิเคราะห์หรือไตร่ตรองถึงผลกระทบระยะยาว ว่าถ้าติดแล้วจะมีผลกระทบทางลบอย่างไร

บางครั้งเด็กอาจจะต้องใช้เวลาปลูกฝังประเด็นเหล่านี้ หรือจัดการกับความกดดันจากกลุ่มเพื่อน เพราะเด็กได้รับอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนค่อนข้างเยอะ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การเพิ่มทักษะเหล่านี้ให้เด็กจึงมีความสำคัญ รวมถึงการจัดการทางอารมณ์ การจัดการความเครียด ส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะเบี่ยนเบนให้เด็กสามารถระบายความเครียดไปในวิธีที่ Healthy ได้

ขณะที่ ดร.ชาญ กล่าวว่า การที่มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานีตำรวจ หรือสถานศึกษา อาจเป็นเพราะรูปทรง หรือว่าความไม่สะดุดตา ทำให้เป็นจุดสนใจได้ยาก จะรู้กันแค่กลุ่มเฉพาะ และสามารถแยกส่วนได้ เช่น ตัวบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา ทำให้เมื่อพกพาก็ยากที่จะจับสังเกต หรือในปัจจุบันที่มีการเปิดร้านกัญชาเสรีกันอย่างแพร่หลาย หรือสถานที่ที่มีลักษณะของการตกแต่งร้านคล้ายร้านอาหาร คาเฟ่ ก็อาจมีการแฝงการขายสินค้าชนิดนี้ได้ และการเดินเข้าร้านพวกนี้ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจมากนักอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ การขาดความเข้มงวด หรือการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรืออาจมีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ที่ไม่ซื่อตรงทำให้เมื่อลงตรวจพื้นที่ หรือทำการจับกุมมักไม่พบหลักฐานกระทำผิดชัดเจน จึงยังมีการขายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานที่สำคัญอยู่

เด็กจะใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ถ้าขาดมาตรการชัดเจน - การปรับทัศนคติ

แนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในอนาคต หากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน รวมทั้งการทำงานกับเด็ก โรงเรียน ครอบครัว การมีช่องทางแจ้งเบาะแสที่ใช้ได้จริง แนวโน้มน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเข้าถึงง่ายมากและราคาถูก ตั้งแต่หลักร้อยและสามารถสูบได้เป็นร้อยๆครั้ง แปลว่า เด็กๆได้ค่าขนมเล็กๆน้อยๆไปโรงเรียนก็สามารถเข้าถึงได้แล้ว และปัจจุบันก็ยังสามารถค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย จึงคิดว่ายังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ตามจิตวิทยาพัฒนาการตามช่วงวัย เด็กอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ต้องการค้นหาตัวตน ดังนั้น เวลาที่สื่อหรือโซเชียลมีเดีย นำเสนอภาพเชิงบวกในการใช้สารเสพติดหรือบุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นดูเท่

ดังนั้น การปรับทัศนคติหรือมุมมอง น่าจะต้องใช้เวลาทำงาน เหมือนตอนที่ทำเรื่องบุหรี่มวน ซึ่งใช้เวลาพอสมควรที่จะให้คนตระหนักว่า บุหรี่มีผลกระทบในระยะยาว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพไม่น้อยไปกว่าบุหรี่มวนด้วยซ้ำ แต่พอทำงานกับเยาวชนอาจจะต้องอาศัย กระแสสังคม การทำแคมเปญที่ต่อเนื่อง มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของโซเชียลมีเดีย หรือการทำงานกับโรงเรียน

ทำอย่างไร ให้เยาวชนไทยห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า?

ผศ.ดร.วิไลภรณ์ กล่าวว่า ในมุมนักสังคมสงเคราะห์ จะมองเรื่องการทำงานกับเด็กเป็นหลัก ถ้าติดอาวุธให้เด็กมีวิจารณญาณ ในการพิจารณาว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม ทักษะนี้จะใช้ได้กับทุกเรื่องที่เจอในอนาคต การสร้างทักษะชีวิต การปฏิเสธ การเลือกเพื่อน หรือการเลือกสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งการที่จะติดอาวุธให้เด็ก ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งจากโรงเรียน ผู้ปกครอง ดังนั้น อาจจะต้องมาดูว่า จะเสริมเข้าไปในหลักสูตรได้ไหม หรือมีกลไกอะไร นอกจากการตรวจยึดหรือค้นกระเป๋า ซึ่งเป็นแค่ปลายเหตุ การฝึกทักษะชีวิตให้เด็ก น่าจะเป็นระยะยาวที่ต่อยอดว่าถ้าต่อไปเจอปัญหาหรือเจอความท้าทายใหม่ๆ จะสามารถเอาตัวรอดได้

ด้าน ดร.ชาญ มองว่า ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง หรือหากมองถึงต้นกำเนิดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่พยายามนำมาใช้เพื่อลดการสูบบุหรี่จริงที่มีสารทาร์ ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ก็ต้องทำให้เหมือนบางประเทศที่ยอมให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย มีการอนุญาต เสียภาษี และควบคุมอายุ รวมถึงปริมาณนิโคตินอย่างเข้มงวดขึ้น หรือต้องมีการลงทะเบียนเพื่อขอใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่จริง หรือห้ามใช้ในสถานที่สาธารณะ เช่น บางประเทศในเครือ EU สหรัฐ บางประเทศในตะวันออกกลาง  มาเลเซีย  

แต่ปัญหาในปัจจุบัน คือ น้ำยาสังเคราะห์ที่มากับบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการรับรองว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะจะเห็นผลวิจัย หรือข่าวที่เผยแพร่อยู่ตลอดว่ามีปริมาณนิโคตินสังเคราะห์ หรือสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก หรือปริมาณสารพิษบางอย่างเกินกว่ามาตรฐาน และเกินกว่าความปลอดภัยด้านอาหารและยาที่รับรอง

ซึ่งถ้าประเทศไทย มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อ ขาย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ปริมาณการใช้ก็น่าจะลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่น่าจะหายไปอย่างเด็ดขาด หากเลิกเข้มงวดจากการเป็นประเด็น หรือกระแสในสื่อมวลชน ก็อาจเห็นการกลับมาขายหรือกลับมาใช้อยู่บ้าง แต่อาจจะไม่ประเจิดประเจ้อเหมือนเดิม  แต่หลายคนที่ตนรู้จักบอกว่า พอบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาหายาก ราคาแพงขึ้น ก็มีส่วนช่วยให้เขาเลิกบุหรี่ หรือสูบได้ลดลง

​ดร.ชาญ กล่าวต่อว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและทั่วถึง จะมีส่วนช่วยให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ายากขึ้น เมื่อของหายาก ราคาสูง ก็อาจทำให้เยาวชนบางส่วนที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ยากขึ้น และเมื่อสังคมภาพรวมที่สะท้อนภาพของการสูบบุหรี่ลดลง ก็จะเริ่มเกิดบรรทัดฐานใหม่ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและน่ารังเกียจ เหมือนที่ในปัจจุบันบุหรี่มวนมีคนสูบน้อยลง และใครสูบมักถูกมองว่าเป็นคนรุ่นเก่า ไม่สร้างสรรค์ ส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง

หรือแม้แต่สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่ต้องการการควบคุมพิเศษ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล ร้านอาหาร กลับมาจริงจังต่อการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกครั้ง ก็อาจจะมีส่วนทำให้เยาวชนห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้ง ดร.ชาญ คิดเห็นว่า แม้แต่การลดสิทธิการรักษา ยกเว้นการเคลมประกันโรคทางเดินหายใจที่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัดว่ามาจากการสูบบุหรี่ ก็อาจทำให้คนรู้สึกกลัวและลดการใช้ ทั้งบุหรี่จริงและบุหรี่ไฟฟ้าได้มากขึ้น

ดร.ชาญ ทิ้งท้ายว่า ในส่วนของผู้ปกครอง หากมีการทำความเข้าใจ ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ทำสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง เยาวชนได้รับความอบอุ่น ตักเตือนด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ตนเชื่อว่าเยาวชนจะรับฟังและมีการต่อต้านน้อยกว่า หากผู้ปกครองขาดการเอาใจใส่และทำให้เด็กรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่ safezone แต่เพื่อน คือ คนที่เข้าใจและยอมรับตนเอง เป็น reference person หรือ reference group ที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด หรือการใช้ชีวิต

ดังนั้น ถ้ากลุ่มเพื่อนใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้าตาม สถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง: วารสารวิชาการสาธารณสุข / กรมประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ