กรณีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม และอดีตเจ้าคณะภาค 14 เข้าพบตำรวจ หลังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินวัดจำนวน 300 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป. พร้อมด้วยพ.ต.อ.จำนาญ จันทร์เทศ ผกก.5 บก.ปปป. และ ร.ต.อ.นิติธร ประชันกาญจนา รอง สว.กก 5 บก.ป. (ตำรวจที่แฝงตัวเป็นสายลับ) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังในการสืบสวนคดีอื้อฉาวดังกล่าวในรายการ “โหนกระแส” ไว้อย่างน่าสนใจ
โดย พ.ต.อ.ภัทราวุธ เล่าว่า จุดเริ่มต้นเรื่องดังกล่าวมีหนังสือร้องเรียนมายังกองปราบปรามฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 ว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดไร้ขิง มีพฤติกรรมเอาเงินวัดไปใช้ส่วนตัว และมีการยืมเงินวัดอื่นตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงหลัก 10 ล้านบาท แล้วไม่ใช้คืน และมีพฤติการณ์ที่อาจจะขู่เข็น หรือบังคับ หรือหลอกลวงหลวงพ่อ เพื่อนำเงินไปใช้โดยไม่ชอบ หลังจากมีหนังสือร้องเรียน มีการจัดชุดคณะทำงานขึ้น 6 คน และเริ่มหาพยานหลักฐานและดูพฤติกรรมของวัด และวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีของวัดว่าเงินมาจากไหน และเงินถูกโอนไปที่ไหน และหากมีประเด็นอะไรที่อยากรู้ ก็จะส่ง ร.ต.อ.นิติธร (สายลับ) ไปแฝงตัวลงพื้นที่ โดยหลังจากทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีของวัดแล้วพบเส้นเงินต่างๆ เมื่อต้องการทราบว่าคนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่อะไรในวัด ก็จะมีการส่ง ร.ต.อ.นิติธร (สายลับ) ไปสืบว่าคนที่เราอยากรู้ทำหน้าที่อะไรในวัด ใกล้ชิดกับเจ้าอาวาสขนาดไหน
ส่วนพฤติการณ์การยักยอกเงินวัดไร่ขิงนั้น พ.ต.อ.ภัทราวุธ เล่าว่า หลังเงินทำบุญ เงินบูชาวัตถุมงคล เงินประมูลค่าเช้าแผงค้าในงานประจำปี เข้าบัญชีวัด เงินดังกล่าวก็จะถูกโอนไปที่บัญชีเจ้าอาวาสฯ โดยเจ้าอาวาสฯเป็นคนสั่งให้ถอนเงินจากบัญชีวัด แล้วนำเข้าบัญชีเจ้าอาวาสฯ โดยอำนาจในการโอนเงินจากบัญชีวัดจะใช้กรรมการวัด 2 ใน 3 คนเป็นตนเซ็นเบิกเงิน คือเจ้าอาวาสฯ รองเจ้าอาวาสฯ และไวยาวัจกรวัด
หลังจากนั้นก็พบเส้นเงินแบบแรกที่ตรวจพบคือโอนไปที่บัญชี น.ส.อรัญวรรณ หรือ “เก็น” ส่วนแบบที่สองคือเจ้าอาวาสฯให้คนสนิทเปิดบัญชี แต่เจ้าอาวาสฯเป็นคนใช้บัญชีเอง แล้วโอนต่อไปที่ น.ส.อรัญวรรณ อีกทีหนึ่ง ส่วนการเงินแบบที่ 3 เมื่อธนาคารกำหนดให้มีการสแกนใบหน้าหากโอนเงินเยอะ แต่เจ้าอาวาสฯไม่อยากสแกนหน้า ก็ให้พระมหาเอกพจน์เปิดบัญชี แล้วเจ้าอาวาสฯโอนเงินไปที่บัญชีพระมหาเอกพจน์ ก่อนโอนต่อไปให้ น.ส.อรัญวรรณ นอกจากนั้นยังมีอีกรูปแบบคือพระเอกพจน์ใช้วิธีถอนเงินที่หน้าตู้ ATM แล้วเดินไปที่ตู้ ATM อีกตู้เพื่อฝากเข้าบัญชีของ น.ส.อรัญวรรณ เพื่อพยายามตัดเส้นทางการเงิน
ส่วนประเด็นการเล่นพนันออนไลน์นั้นยังไม่พบหลักฐานว่าอดีตเจ้าอาวาสฯเป็นคนเล่น แต่พบเส้นเงินที่โอนให้บัญชีของ น.ส.อรัญวรรณ ซึ่งเป็นการยักยอกเงินวัด ขณะเดียวกัน “หนุ่ม กรรชัย” พิธีกรรายการ ก็สรุปอีกครั้งว่าจากการสอบถามเจ้าหนจ้าที่ตำรวจ ก็ยืนยันว่าอดีตเจ้าอาวาสฯไม่ได้ติดพนัน แต่ติดผู้หญิง
เมื่อถามว่า อดีตเจ้าอาวาสฯ มีความสัมพันธ์อะไรกับ น.ส.อรัญวรรณ ถึงต้องโอนเงินให้ขนาดนี้ พ.ต.อ.ภัทราวุธ บอกว่า เขามีบ้านอยู่ใกล้วัด และจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดไร่ขิง และช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด น.ส.อรัญวรรณได้มาขอยืมเงินอดีตเจ้าอาวาสฯ ครั้งแรกประมาณ 5-6 หมื่นบาท หลังจากนั้นก็มีการแลกไลน์กัน และคุยกันมาโดยตลอด และมีการวิดีโอคอลพูดคุยกัน และจากคำให้การก็มีครั้งหนึ่งที่วิดีโอคอลระหว่างที่ น.ส.อรัญวรรณ อาบน้ำอยู่ในห้องน้ำ และมีการอัดคลิปอัดเสียงการพูดคุยกันไว้ด้วย
หลังจากนั้น น.ส.อรัญวรรณ ก็ได้มีการสร้างเรื่องโดยอ้างว่าติดหนี้ก้อนหนึ่งแล้วเจ้าหนี้ยึดโทรศัพท์ไป แล้วกลัวว่าคลิปที่อยู่ในโทรศัพท์จะหลุดออกไป ก็เลยให้อดีตเจ้าอาวาสฯ ช่วย น.ส.อรัญวรรณ จ่ายหนี้ และกลายเป็นว่า น.ส.อรัญวรรณ ก็ใมช้เรื่องนี้เป็นการต่อรองกับ อดีตเจ้าอาวาสฯ มาโดยตลอด หลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.ย.2567 มีการเรียก น.ส.อรัญวรรณ มาพูดคุยว่าให้จบกันเรื่องระหว่าง น.ส.อรัญวรรณและอดีตเจ้าอาวาสฯ พร้อมให้ทุบทำลายโทรศัพท์ทิ้ง แต่ก่อนที่ น.ส.อรัญวรรณ จะมาพบอดีตเจ้าอาวาสฯ ได้มีการสกรองข้อมูลไว้ก่อนแล้ว แต่จากการสืบพฤติกรรมของ อดีตเจ้าอาวาสฯ ยังไม่พบหลักฐานว่าเคยอยู่กับ น.ส.อรัญวรรณ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือมีความสัมพันธ์กัน
พ.ต.อ.ภัทราวุธ เล่าอีกว่า คำให้การของ น.ส.อรัญวรรณ ยังขัดแย้งกับคำให้การของ อดีตเจ้าอาวาสฯ เรื่องการใช้คลิปวิดีโอต่อรองเรียกเงิน แต่ก็ยิมรับว่ามีการเอาเงินไปเล่นการพนันจริง ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ น.ส.อรัญวรรณ ก็ยอมรับว่ามีการคุยวิดีโอคอลคุยกับอดีตเจ้าอาวาสฯ ในทางที่ไม่เหมาะสมในทางเพศ ส่วนเส้นทางการเงินของ น.ส.อรัญวรรณ มีการโอนเงินไปเล่นการพนันค่อนข้างเยอะ และส่วนหนึ่งเอาไปซื้อทรัพย์สิน โดยพบเงินที่ถึง น.ส.อรัญวรรณ ประมาณ 300 ล้านบาทระหว่างปี 2564-67 โดยเอาเงินไปเล่นการพนันพบว่าแทงพนันบางครั้งมากถึงหลักแสนบาท ส่วนสามีของ น.ส.อรัญวรรณ ยังไม่พบว่ามีส่วนร่วม แต่ก็ต้องมีการขยายผลต่อ
พ.ต.อ.ภัทราวุธ บอกอีกว่า หลังจากการตรวจค้นวัด จนมีการตรวจสอบบัญชีวัดทั้งหมด พบว่าวัดมีรายได้ 7 ทาง คือ 1.มีผู้บริจาค 2.รายได้จากการจำหน่ายสังฆทาน 3.รายได้จากการจำหน่ายวัตถุมงคล 4.รายได้จากตลาดนัด 5.รายได้จากการจำหน่ายขนมปังให้อาหารปลา 6.ค่าเช่าธรณีสงฆ์ 7.ค่าเช่าร้านค้าประจำปี ทั้งนี้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการเงินพบว่า ตั้งแต่ปี 2565-68 รายได้จากการเช่าร้านค้าประจำปี ประมาณ 30 ล้านบาท จะถูกเก็บไว้เป็นเงินสดในกุฏิของอดีตเจ้าอาวาสฯ ทั้งที่ก้อนหน้านั้นจนถึงปี 2564 เงินส่วนนี้จะถูกโอนเข้าบัญชีของวัด แต่พอตำรวจเข้าตรวจค้นภายในวัดกลับไม่เจอเงินก้อนนี้ ซึ่งคิดว่ามีประมาณ 120 ล้านบาท
ด้าน พ.ต.อ.จำนาญ จันทร์เทศ ผกก.5 บก.ปปป. บอกว่า จากการตรวจสอบบัญชีในวัด พบว่ายังมีบางบัญชีที่ยังมีเงินเหลืออยู่หลักล้านบาท ซึ่งพอที่จะจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ ยังไม่ถึงกับขาดสภาพคล่อง แต่ก็ยอมรับว่าพอเงินวัดถูกเบียดบังออกไปก็แทบจะไม่เหลือเงินเลย