จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในคนระยะแรก พ.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในคนระยะ 1 เริ่ม เดือนพฤษภาคม นี้ พร้อมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สูตรค็อกเทล ต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนทั่วโลกอยู่ขณะนี้

จุฬาฯ เผยผลทดลองวัคซีน โควิด-19 ในลิงมีภูมิคุ้มกันเพิ่ม รอไฟเขียวทดสอบในมนุษย์

เปิดขั้นตอนการพัฒนาต้นแบบวัคซีน โควิด-19 ฝีมือนักวิจัยไทย

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน covid-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ  นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 (จุฬาฯคอฟ19) และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัครมนุษย์ เฟส 1 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ กล่าวว่า หลังการรายงานผลการทดลองในหนูและลิงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง ป้องหนูไม่ให้ป่วยได้ 100% ยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ 100% เมื่อได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม นี้

ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตวิจัยในคนจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครผ่านเว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์ เบื้องต้นจะแบ่งการทดลองในคนออกเป็น ระยะ ที่ 1 กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-55 ปี 36 คน และอายุ 65-75 ปี เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง  ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เสร็จประมาณต้นกรกฎาคม จากนั้น จะเริ่มทดลองระยะ 2 ต่อไป ซึ่งจะใช้อาสาสมัคร 300-600 คน โดยร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยการทดลองระยะที่ 1–2 นั้นจะใช้วัคซีนที่ผลิตจากบริษัทต่างประเทศ กว่า 10,000 โด๊ส จากนั้นจะทำระยะ 2B กลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไบโอเน็ท-เอเชีย จำกัด ส่วนระยะที่ 3  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนี้ เราอยู่ในรายชื่อกรรมการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลกด้วย ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลวัคซีนทั้งหลายในโลกว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทราบผลอีก 6 เดือน ถ้าทราบผลแล้ว โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ตัวอื่นๆ หากพบว่ากระตุ้นภูมิได้ดี ก็อาจจะไม่ต้องทำการทดลองในระยะที่ 3 แต่ต้องทดลองระยะ 2B เพื่อดูความปลอดภัย

นอกจากนี้แล้ว วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส และอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ซึ่งจุดเด่นของวัคซีนชนิด mRNA นั้นสามารถปรับปรุงให้เข้ากับเชื้อโรคได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวัคซีนสูตรค็อกเทล คือป้องกัน 3 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม  สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในอังกฤษ และสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ หรืออาจจะเป็นสูตรผสม 2 สายพันธุ์ก็ได้ โดยจะเริ่มดำเนินการในสัตว์ทดลองภายใน 2 เดือน โดยทำควบคู่ไปกับการทดลองวัคซีนรุ่นแรกในคนระยะที่ 1-2  

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เราสามารถปิดช่องว่างจากการที่มีวัคซีนในประเทศได้ แต่ก็อยากจะปิดท้าย ด้วยการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ศึกษาวิจัยในประเทศไทยนั่นก็คือวัคซีนจากจุฬาฯ ถ้ายังผลิตไม่ได้ ก็จะไม่มีความมั่นคง การเจรจาซื้อจากต่างประเทศต้องใช้กำลังภายในมาก อยากให้ประเทศไทยมีสิ่งที่สามารถให้เราพึ่งพาตนเองได้ นั่นคือวัคซีนจากจุฬาฯ ที่จะสำเร็จในเวลาอันใกล้ และอีกหลาย ๆ โครงการของไทย หากคืบหน้าเป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ต้องมีการคิดหาวิธีสนับสนุนต่อไป

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ