พบ 1 รายในไทย ภาวะ VITT เกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดแอสตร้าเซเนก้า รักษาทัน อาการดีขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พบ 1 รายในไทย ภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดแอสตร้าเซเนก้า กรมวิทย์ เผยโอกาส 1 ใน 5 ล้าน และคนไทยจะเกิดน้อยกว่าตะวันตก 5-40 เท่า

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการที่มีรายงานพบผู้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน หรือภาวะ VITT หลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด ไวรัลเวกเตอร์ เช่น แอสตร้าเซเนก้า และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19?

สธ.-แอสตร้าเซนเนกา แถลงร่วมยันวัคซีนปลอดภัย เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับคนไทยน้อยมาก

ข้อมูล ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนจนถึงวันที่ 11 ก.ค. 2564 มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ในคนไทยไปแล้ว 5,360,745 โดส พบ ผู้ป่วยยืนยันอาการ VITT โดยคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 26 ปี มีโรคประจำตัว คือ ไมเกรน

 

ซึ่งหญิงรายนี้ มาด้วยอาการ ปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า มีค่าเกล็ดเลือดต่ำ ค่า D-dimer สูง และ Anti PF4/heparin antibody เป็นบวก และเมื่อได้รับการรักษาด้วยยา intravenous immunoglobulin (IVIG) แล้ว ก็มีอาการดีขึ้น 

นายแพทย์ศุภกิจ อธิบายว่า  ภาวะ VITT ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ น้อยกว่า ต่างประเทศมาก คือ 1 ต่อ 5,000,000 ในขณะที่ต่างประเทศมีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อ 125,000 – 1 ต่อ 1,000,000 ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศไทยถึง 5-40 เท่า

และแม้ว่าจะเป็นภาวะที่อาจเกิดอาการรุนแรง แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย สามารถตรวจเกล็ดเลือดได้ทุกแห่ง และมีห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 78 แห่งที่มีความพร้อมในการตรวจ D-dimer

และหากแพทย์ พบว่า มีค่าเกล็ดเลือดต่ำ และ D-dimer สูง จะส่งตัวอย่างเลือด เพื่อยืนยันอีกครั้ง ด้วยวิธีที่เรียกว่า Anti PF4/heparin antibody และ Platelet activation assay ตามแนวทางของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สปสช.เพิ่มสิทธิตรวจ-รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคมมีการปรับสูตรวัคซีน ทำให้มีผู้ที่ได้รับ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า มากขึ้น หากผู้ได้รับวัคซีนคนใดมีอาการบ่งชี้ว่า อาจหลอดเลือดอุดตัน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังรุนแรง ขาบวม เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ตามัว เห็นภาพซ้อน หลังได้รับวัคซีนภายใน 30 วัน ให้รีบปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล

หากผลการตรวจเบื้องต้นเข้ากับภาวะ VITT แพทย์จะพิจารณารักษาทันที ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล ประเทศไทยมีความพร้อมในการตรวจและรักษาภาวะนี้ 

 

 

 

 

 

 

 

ย้ำไม่จำเป็นต้องขอรับการตรวจเกล็ดเลือดหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เพียงสังเกตอาการ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลการศึกษาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดผลการศึกษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 521 คน พบว่า 

ไม่พบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไม่พบการเพิ่มขึ้นของการสร้างแอนติบอดีของเกล็ดเลือด ที่นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดต่ำและหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงไม่พบหลักฐานการกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือดหลังจากการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (D-dimer)

ดังนั้น ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องตรวจเกล็ดเลือดหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ยกเว้นผู้ที่มีภาวะสงสัยเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเท่านั้น ซึ่งมีอาการ คือ 

1.ปวดศีรษะรุนแรง

2.แขนขาชาอ่อนแรง

3.หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด

4.ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน

5.เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก

6.ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง

7.ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น

สามารถพบแพทย์ได้ทันที โดยจะแสดงอาการ หลังจากได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน หลังรับวัคซีน

ที่มาข้อมูล   : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ