นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 ตุลาคม 2564 พบผู้ป่วย 417,168 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิด - 4 ปี รองลงมาอายุ 65 ปี ขึ้นไป และอายุ 25-34 ปี ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ อำนาจเจริญ มุกดาหาร เชียงราย จันทบุรี และมหาสารคาม ตามลำดับ
เตือน "โรคอุจจาระร่วง" โรคที่มากับน้ำท่วม
ระวัง... 4 กลุ่มโรคติดต่อที่คนไทย มักเจอในช่วงฤดูหนาว
โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เข้าไปในร่างกาย อันตรายที่สำคัญของโรคนี้ คือ การเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ที่อาจทำให้ช็อก หมดสติ และภาวะขาดสารอาหาร ในช่วงหลัง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้สูงอายุเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ซึ่งภาวะอุจจาระร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยการรักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ด้วยการดื่มสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร และไม่ควรทานยาหยุดถ่าย หรือยาแก้ท้องเสียเพราะจะทำให้ลำไส้กักเก็บเชื้อโรคไว้นานขึ้น
นอกจากนี้การทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้ หากมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 วัน หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ "สุก ร้อน สะอาด" หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวด และไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงด้วยตนเองสามารถทำได้ง่ายโดย ล้างมือ ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารและภายหลังขับถ่ายอุจจาระ ที่สำคัญคือ ควรเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด สุกๆใหม่ๆ ดื่มน้ำสะอาด เลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขอนามัย มีภาชนะรองรับ ไม่วางกับพื้นโดยตรง
หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุงควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และเครื่องหมาย อย. ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุกๆดิบๆ และหากจำเป็นต้องรับประทานอาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนจัดทุกครั้งก่อนรับประทาน ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ควรล้างทำความสะอาด เก็บให้พ้นจากสัตว์นำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน รวมถึงขับถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
นอกจากนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารก หากอาการอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น มีอาการถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ และเพื่อการป้องกันดูแลรักษาสุขภาพที่ดี หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422