เช็ก 3 สัญญาณ ผู้สูงอายุในบ้านเข้าข่ายเสี่ยงเป็น "โรคซึมเศร้า"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนะใส่ใจผู้สูงอายุ บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่จะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูงต้องการความดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากขึ้น

ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่หลายบ้าน มักจะแยกตัวออกมาจากพ่อแม่ แล้วสร้างครอบครัวใหม่จึงละเลยที่จะดูแล ใส่ใจผู้สูงอายุ จนกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ท่านกลายเป็น โรคซึมเศร้า ไปได้ ซึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่า บุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่จะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ สูงพอสมควร ต้องการความดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากขึ้น แต่เมื่อถูกละเลย ก็ทำให้ท่านเกิดความเครียดทางอารมณ์ จนเกิดความผิดปกติ แล้วส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด เบื่อหน่ายการใช้ชีวิต ไม่นอน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทำกิจกรรม ไม่รับประทานยาตามสั่ง

“โรคซึมเศร้า” เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

คุยกับจิตแพทย์ "ปฐมพยาบาลใจ ก้าวผ่านโรคซึมเศร้า" จากโควิด-19

ดังนั้นคนเป็นลูกหลาน จึงจำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลบุคคลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ และควรสังเกตผู้สูงอายุ ในบ้านว่ามี สัญญาณดังต่อไปนี้หรือไม่ 

1. มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิดง่าย น้อยใจง่าย มีความวิตกกังวลสูงขึ้นมาก 
2. มีอาการทางร่างกายมากกว่าเดิม เช่น อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง นอนไม่หลับ
3. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นิ่งเฉย ไม่ค่อยพูด

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์  ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 3 อาการ  แต่อาการดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

แนวทางการรักษา 
1. การทานยาต้านเศร้า หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอยู่ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากการทานยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ อาจทำปฏิกิริยากับยาต้านเศร้าได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุจะค่อนข้างใช้เวลาในการออกฤทธิ์มากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่นๆ โดยอาจใช้เวลามากกว่า  1 เดือน

2. ปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และเพิ่มกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น

3. รักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น สำหรับรายที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่ยังควบคุมได้ไม่ค่อยดี อาจต้องพิจารณาให้ยาหรือการรักษาที่ช่วยให้อาการของโรคสงบได้ดีขึ้น จะช่วยให้การรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลดีขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ผู้สูงอายุกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ได้เมื่อ
1. อยู่ห่างไกลจากครอบครัว
2. มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคพาร์กินสัน
3. มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น เกษียณจากงาน สูญเสียคนในครอบครัว 
4. มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุต้องอาศัยความใส่ใจของคนในครอบครัว หมั่นสังเกตและตระหนักถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถือเป็นด่านแรกของการนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็ว

 

ข้อมูลโดย: ผศ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม  อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล 
 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ