หมอห่วงคลัสเตอร์ฟันน้ำนม แนะดูแลใกล้ชิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อาทิตย์นี้ เป็นช่วงของการเปิดเทอม และการผ่อนคลายให้ศูนย์ดูแลเด็กเล็กเปิดดำเนินการเรียนการสอนได้ ทำให้หลายจังหวัดเกิดกรณี การติดเชื้อโควิด19 หรือคลัสเตอร์ฟันน้ำนม อย่างที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2

การติดเชื้อของคลัสเตอร์ฟันน้ำนมครั้งที่ 2 ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนายสมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า คลัสเตอร์นี้ ติดกันในเด็กเล็ก 11 คน และมีการติดเชื้อต่อไปยังผู้ใหญ่และเด็กโต รวม 40 คน ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ขอผู้ปกครอง ให้ระมัดระวังและยึดปฏิบัติตามแนวสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

ขณะที่จังหวัดสระแก้ว นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยด้วยว่า วันนี้จังหวัดสระแก้ว พบผู้ป่วยโควิด 68 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 2 คลัสเตอร์

สั่งปิดรร. 14 วัน หลังพบคลัสเตอร์ฟันน้ำนม

แจงคลัสเตอร์ฟันน้ำนมขอนแก่นคุมได้แล้ว

ได้แก่ ที่บ้านใหม่ถาวร หมู่ 2 ต.สระขวัญ มาจากครอบครัวคนขายถ่านที่ติดเชื้อมาสู่ครอบครัว จากนั้นมีเด็กข้างบ้าน 3 ขวบมาเล่นด้วย จึงติดเชื้อ และนำไปแพร่ต่อให้ย่า และพี่ 4 ปี ก่อนกระจายไปบ้านเพื่อนบ้านอีก ที่มีเด็กมาเล่นด้วยกัน ทำให้กลุ่มนี้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 10 คน

อีกคลัสเตอร์อยู่ บ้านหนองแสง หมู่ 19 ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ เริ่มจากผู้ป่วยคนแรกอายุ 19 ปี ว่างงาน ติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ และนำเชื่อไปติดในครอบครัว ก่อนญาติจะมารับหลาน 7 ขวบ ไปเล่นที่บ้านอีกหลัง ทำให้กระจายเชื้อไปที่ญาติ และเด็กอีก 4 คน รวมติดเชื้อ 3 ครอบครัว 9 คน

แต่ก็ยังทำให้เกิดคำถามที่ว่า การเปิดเรียนของเด็กเล็กแบบออนไซต์ หรือศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ในช่วงนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่

ทีมข่าว ได้สอบถามไปที่ พญ.รติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี บอกว่าเด็กเล็ก สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โควิด-19 ได้ยากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ เนื่องจากยังไม่เข้าใจเรื่องโรค โควิด-19 และความน่ากลัวของโรคนี้มากนัก จึงมองว่า หากหลังจากนี้เด็กเล็กต้องกลับไปเรียนตามปกติ โรงเรียนควรมีการเพิ่มมาตรการป้องกันโดยเฉพาะ เช่นคุณครูต้องดูแลเด็กเล็กให้ทั่วถึงทุกคน หากมีจำนวนเด็กในห้องมาก ก็อาจมีการจัดระเบียบการเรียนการสอนใหม่ ควรมีการคัดกรองประวัติความเสี่ยงจากผู้ปกครองโดยตรงเพราะเด็กเล็กอาจไม่สามารถสื่อสารรายละเอียดความเสี่ยงได้เท่าคนโต เช่น หากครอบครัวสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วย โควิด-19 ก็อาจต้องให้เด็กกักตัวอยู่ที่บ้านสองอาทิตย์เพื่อเฝ้าดูอาการก่อนกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ

อีกสาเหตุหนึ่งที่เด็กเล็กไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โควิด-19 ได้ดี พญ.รติ บอกว่า มาจากพฤติกรรมของเด็ก ส่วนใหญ่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่น ไม่สามารถทนต่อการใส่หน้ากากอนามัยได้นาน เพราะรู้สึกรำคาญทำให้ส่วนใหญ่เด็กจะดึงหน้ากากอนามัยออกจากใบหน้าเป็นประจำ  เด็กมักมีพฤติกรรมเล่นใกล้ชิดกัน ไม่เว้นระยะห่าง เด็กมักนำของเล่นเอาปาก และบางครั้งก็เป็นของใช้ส่วนตัวของคนอื่นที่ไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคปะปนมาด้วยหรือไม่ ไม่สามารถล้างมือหรือทำความสะอาดจุดเสี่ยงสะสมเชื้อโรคได้ประจำ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยไม่สามารถบอกอาการได้ชัดเจนและที่สำคัญที่สุดคือยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โควิด-19 รองรับกลุ่มเด็กเล็กเพื่อป้องกันความเสี่ยง

พญ.รติ บอกว่าที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเด็กเล็กติดเชื้อ โควิด-19 จะมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ก็ยังต้องระวัง เพราะแม้จะรักษาหายดีแล้ว ยังพบว่ามีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า มิสซี ส่งผลต่อระบบในร่างกายทั้งระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันโควิด19 สำหรับเด็กเล็ก ทั้ง ที่บ้าน และที่โรงเรียน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ