อาการปวดบริเวณช่องท้อง สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน แต่อาการปวดที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรง มากน้อยก็แล้วแต่อวัยวะภายในของร่างกาย แต่บางครั้งสาเหตุของอาการปวดท้องอาจเกิดจากอวัยวะนอกช่องท้อง ก็เป็นได้เช่นกัน ดังนั้นหากเรียนเบื้องต้นว่าอาการปวดท้องแต่ละจุดบอกโรคอะไรได้บ้างก็จะยิ่งส่งผลดีอย่างต่อการรักษาและตัวเราเองได้ง่ายขึ้น
โดยทางการแพทย์ได้มีการแบ่งช่องท้องออกเป็น 4 ส่วน โดยมีเส้นจุดตัดบริเวณสะดือ โดยสามารถแบ่งจุดที่ปวดท้องได้ 5 จุด ดังนี้
5 ตำแหน่งปวดหัว บอกสาเหตุและอาการป่วยได้ว่าเรากำลังเป็นโรคอะไร
ปวดท้องรุนแรง อย่า! ... กินยาแก้ปวด เสี่ยงทำแพทย์วินิจฉัยผิด ยิ่งอันตรายถ้าเป็นไส้ติ่งอักเสบ
1. ปวดท้องด้านขวาบน
อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านขวาบน คือ ตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี โดยจะขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการปวดว่าเป็นอย่างไร
– ถุงน้ำดีอักเสบ: มีอาการปวดท้องต่อเนื่องและมีไข้ร่วมด้วย
– นิ่วในถุงน้ำดี: โดยปกติแล้วหากมีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการใด ๆ แต่อาการปวดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนิ่วหลุดมาที่ท่อน้ำดี ทำให้ทางเดินน้ำดีถูกอุดกั้น ร่างกายจึงพยายามบีบไล่นิ่วให้หลุดจากท่อบริเวณดังกล่าวทำให้เกิดอาการปวด อาการปวดนิ่วในท่อน้ำดีจะปวดแบบเฉียบพลัน 15-30 นาที โดยจะปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยบางรายจะบอกว่าปวดจนตัวงอ เหงื่อแตก ใจสั่น อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ข้างหลัง หรือปวดไปที่สะบักข้างขวาก็ได้
– ปวดบริเวณตับ: มักเกิดจากการที่มีการอักเสบหรือมีฝีหนองที่ตับ บางรายอาจไม่มีอาการปวด หรือรู้สึกไม่สบายในช่องท้องด้านขวา หากมีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อสืบค้นเพิ่มเติมโดยวิธีอัลตราซาวด์ หรือเจาะเลือดตรวจ
2. ปวดท้องด้านซ้ายบน
อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านซ้ายบนคือ ม้าม หากปวดรุนแรง ปวดมาก มักเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงม้าม เช่น ม้ามขาดเลือด แต่เป็นภาวะที่เจอน้อยมาก มักจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย คนทั่วไปอาจไม่เจอปัญหาเรื่องนี้
3. ปวดท้องด้านขวาล่าง
หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง ยกเว้นบางรายที่อวัยวะกลับด้านจะมีไส้ติ่งอยู่ด้านซ้ายซึ่งเจอได้น้อยมาก
อาการของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน: มีอาการปวดจุกที่รอบ ๆ สะดือก่อนแล้วย้ายไปที่ด้านขวาล่าง จนปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีไข้ร่วมด้วย อาการนี้ถือว่าเข้าข่ายภาวะไส้ติ่งอักเสบ
4. ปวดท้องด้านซ้ายล่าง
ด้านซ้ายล่าง เป็นตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หากปวดเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ให้ระวังเรื่องลำไส้แปรปรวน หรือหากเป็นผู้สูงอายุอาจต้องระวังเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะอาจจะมีการอุดกั้นทางเดินอาหารได้
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่: อาการคล้ายกับท้องผูก มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม มีภาวะซีด ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หากไม่แน่ใจและอายุค่อนข้างมาก ควรไปตรวจเพิ่มเติม
5. ปวดท้องตรงกลาง
อาการปวดท้องตรงกลางจะเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารจะวางตัวอยู่เหนือสะดือ โดยปกติแล้ว
อาการปวดก็จะอยู่บริเวณกลางท้องค่อนไปทางเหนือสะดือเป็นหลัก หากลึกกว่านั้นจะเกี่ยวกับตับอ่อน ซึ่งอยู่บริเวณค่อนข้างกลาง ๆ หรือบริเวณลิ้นปี่แต่อยู่ลึก
อาการของตับอ่อนอักเสบ: ปวดบริเวณเหนือลิ้นปี่ และปวดตลอดอย่างต่อเนื่อง หากมีไข้ร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการสืบค้นและรักษาอย่างเร็วที่สุด