อุบัติเหตุแผลไฟไหม้ น้ำร้อน สามารถพบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยระดับความรุนแรงของแผลจะมีแตกต่างกันไปตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงแผลลึกจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะหากปฐมพยาบาลไม่ถูกวิธี อาจทำให้บาดแผลติดเชื้อและรักษายากได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีความเข้าใจแบบผิด ๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล ที่นอกจากจะไม่ช่วยรักษาแล้ว ยังเสี่ยงติดเชื้ออีกด้วย
สัตวแพทย์ใช้ “หนังปลานิล” รักษาหมีเหยื่อไฟป่าแคลิฟอร์เนีย
3 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
1. ใช้ยาสีฟันทาบริเวณที่เป็นแผล
ยาสีฟัน ไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เสี่ยงทำให้แผลเกิดอาการระคายเคือง มีโอกาสติดเชื้อ และรักษาได้ยากขึ้น
2. นำน้ำปลามาทาบริเวณที่เป็นแผล
น้ำปลา ไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล แสบแผล เสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อ
3. น้ำแข็งมาประคบแผล เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อน
การใช้ความเย็นมาประคบบริเวณที่เกิดแผล จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่แนะนำให้นำน้ำแข็งมาประคบ เพราะน้ำแข็งอาจมีสิ่งสกปรกติดมาตามน้ำแข็ง อาจทำให้แผลติดเชื้อได้
การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่ถูกวิธี
- ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าแห้งสะอาด
- สังเกตอาการ หากยังมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรืออาการเป็นมากขึ้น ผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ให้รีบไปโรงพยาบาล
การดูแลตนเองหลังการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นผง สัตว์ทุกชนิด อาจทำให้คันหรือมีการติดเชื้อได้ง่าย
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทำให้บาดแผลสมานปิดเร็วขึ้น
- หมั่นทายา/รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- รักษาความสะอาดแผลให้ดี
อ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์