เปิดประวัติ-ความสำคัญ “วันพืชมงคล” วันแห่งขวัญกำลังใจแด่เกษตรกรไทย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เปิดประวัติพระราชพิธีสำคัญ "วันพืชมงคล 2567" มีความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร ทำไมแต่ละปีถึงไม่ตรงกัน เช็กที่นี่!

พระราชพิธีพืชมงคล ปี 2567 ปีนี้ ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมแต่ละปี "วันพืชมงคล" จึงกำหนดวันจัดไม่ตรงกัน ทำให้ปฏิทินวันหยุดเดือนพฤษภาคม ของแต่ละปีต้องมีการปรับเปลี่ยนเสมอ

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

การกำหนดวันพืชมงคลแต่ละปี ทางสำนักพระราชวังจะเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ที่กำหนดวันตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมตาม "ปฏิทินหลวง" ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของปีนั้น ๆ

คอนเทนต์แนะนำ
“วันพืชมงคล 2567” กำหนดจัดขึ้นวันไหน พร้อมเช็กความหมายการเสี่ยงทาย
วันพืชมงคล 2567 : เปิดที่มา “วันเกษตรกร” เช็กชื่อเกษตรกรดีเด่น
“วันพืชมงคล 2567” โรงเรียน-ราชการ-เอกชนหยุดหรือไม่

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

อย่างไรก็ตาม หลายคนทราบว่า "วันพืชมงคล" เป็นวันหยุดราชการ แต่แล้ววันนี้จะถือเป็นวันหยุดธนาคารด้วยหรือไม่ คำตอบคือ สำหรับธนาคารและบริษัทภาคเอกชน "วันพืชมงคล" ไม่ถือว่าเป็นวันหยุด ยังคงเปิดให้ทำงานตามปกติ เว้นแต่บริษัทนั้นๆ จะมีประกาศให้หยุดออกมาเพิ่มเติม

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แบ่งเป็น 2 พระราชพิธีรวมกัน คือ "พระราชพิธีพืชมงคล" เป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ส่วนอีกพระราชพิธี คือ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ที่คุ้นตากันดี

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การประกอบพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เพียงเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ "เจ้าพระยาจันทกุมาร" เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง

มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็น "เจ้าพระยาพลเทพ" คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ห้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
พระโค

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร  กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานมิได้ขาด

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่างภาพพีพีทีวี
การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้น "พระยาแรกนา" ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น "วันเกษตรกร" อีกด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงาน วันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย 

"ผ้านุ่งแต่งกาย” ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนั้น เป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุม เพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ

  • ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง

ของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ

  • ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหารภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พีพีทีวี
ความหมายการเสี่ยงทายในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ขอบคุณข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ