๓ พระอารามหลวงชั้นเอกในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
ของขวัญปีใหม่ “ทั้งอนุรักษ์ความเป็นไทยและอิ่มบุญ” จากรัฐบาลถึงประชาชน
ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใหม่มากสำหรับศิลปินไทยในสมัยนั้น ในภาพมีทางเดินคดเคี้ยวลึกเข้าไปสุดลูกหูลูกตา ทางเดินนั้นขนาบข้างไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านโน้มเข้าหากันอย่างยั้งๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกลึกลับแบบแปลกๆ ภาพนี้ถูกตั้งชื่อว่า “วิถีแห่งความฝัน” เมื่อถึงวันตัดสินปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง พอได้รับเกียรติยศสูงสุดของชาติในทางศิลปะเช่นนี้ มีเซียมทั้งดีใจและตกใจกับรางวัลที่อยู่ดีๆ ก็หล่นใส่อย่างไม่เคยคาดคิด
เมื่อถึงงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๒ มีเซียมตัดสินใจส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดอีกอย่างลุ้นระทึก คราวนี้เธอส่งภาพวิวบนเกาะฮาวายเข้าชิงชัยกับเหล่าปรมาจารย์ยอดมนุษย์ในวงการศิลปะของไทยอีกมากมาย เมื่อผลตัดสินออกมามีเซียมก็ได้รับรางวัลเหรียญทองอีก เป็นการพิสูจน์ว่าเธอเป็นศิลปินที่มีความสามารถอย่างแท้จริง สร้างความมั่นใจให้เธอขึ้นอีกเป็นกอง และในปีถัดมา ณ งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๓ คุณภาพผลงานของมีเซียมก็ยังคงเส้นคงวา ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลเหรียญทองจากภาพวิวทะเลหัวหินที่เธอส่งเข้าประกวดอีกแบบชิลล์ๆ สรุปรวมว่าได้รับรางวัลเหรียญทอง ๓ ปีซ้อน ตามกฎของงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถ้าหากศิลปินท่านใดได้รับรางวัลเหรียญทองครบ ๓ ครั้ง จะถูกยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ซึ่งนับว่าเจ๋งที่สุดแล้วในวงการศิลปะสมัยนั้น มีเซียม ยิบอินซอย จึงจับพลัดจับผลูกลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของประเทศไทยไปแบบตั้งตัวไม่ทัน
รางวัลมากมายที่ได้มาในระยะเวลาอันสั้นเกิดจากพรสวรรค์และความมุ่งมั่น ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊คๆ มีเซียมนั้นหลงใหลในการวาดภาพอย่างหนัก อินจัดขนาดรู้สึกเศร้าโศกทุกครั้งที่ต้องวางพู่กันไปทำธุระปะปัง เธอเลยกระหน่ำวาดของเธอแทบทุกวัน จากภาพแรกๆ ที่ดูไม่ได้เรื่องเหมือนไก่เขี่ย ฝึกบ่อยๆ ก็เริ่มไปวัดไปวาได้ดูสวยขึ้นเป็นลำดับ คงเป็นเพราะมีเซียมเป็นคนที่มีรสนิยมดีเป็นทุนเดิม อีกทั้งได้เคยเดินทางไปเห็นของสวยๆ งามๆ มากมายจากทั่วโลก มิหนำซ้ำยังกล้าลองผิดลองถูกถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ที่แท้จริงผ่านสีและจังหวะพู่กันออกมาแบบไม่กลัวพลาด ทำให้ผลงานที่ออกมาถึงจะดูเบี้ยวๆ บูดๆ มีมิติที่แปร่งๆ หน่อย แต่งานศิลปะของเธอกลับไม่เหมือนใครและจริงใจอย่างน่าประหลาด
มีเซียม ยิบอินซอย เนื้อหาที่มีเซียมชอบวาดเป็นพิเศษคือมุมต่างๆ รอบบ้าน และวิวทิวทัศน์ของสถานที่ที่เธอประทับใจ ผลงานส่วนใหญ่ของเธอเลยออกไปทางแนวนี้ แต่ก็มีบ้างนานๆ ทีที่มีเซียมจะวาดคนสักครั้ง ซึ่งภาพคนของมีเซียมนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดูเหมือนไม่มีกระดูก ลำตัว คอ แขน ขา ยาวๆ พลิ้วๆ อนาโตมีไม่เป๊ะไม่เป็นไร แต่อารมณ์ต้องได้ เพราะมีเซียมมีฐานะดีเข้าขั้นเศรษฐี จึงสร้างผลงานศิลปะแบบตามใจฉัน ไม่เน้นทำเป็นการค้า และสำหรับมีเซียมแล้วแค่ไม่ขายยังไม่พอ เธอยังทำตรงกันข้ามโดยการกว้านซื้อผลงานศิลปะที่ดีที่สุดจากศิลปินท่านอื่นมาเก็บเอาไว้มากมาย
ก็เป็นซะอย่างนี้ผลงานศิลปะฝีมือมีเซียมจึงมีกระจายอยู่น้อยนิดแทบจะนับชิ้นได้น้อยจนถือได้ว่าเป็นผลงานของศิลปินอาวุโสที่หาดูยากมากที่สุดท่านหนึ่งขนาดพิพิธภัณฑ์ระดับชาติซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะมีผลงานของมีเซียมศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของไทยไว้จัดแสดง ยังมีแต่ภาพวิวเก็บไว้ในห้องนิรภัยอยู่ไม่กี่ชิ้น และก็ไม่ใช่ใครจะไปดูกันได้ง่ายๆ เพราะร้อยวันพันปีเขาถึงจะงัดออกออกมาแสดงเป็นช่วงสั้นๆ สักทีสองที ขนาดตามพิพิธภัณฑ์ยังไม่ค่อยจะมีกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะไปหาดูตามบ้านนักสะสมก็แทบจะลืมไปได้เลย
ในบรรดาภาพวาดคนที่มีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อยอยู่แล้ว เห็นจะมีภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งโดดเด่นด้วยขนาดที่ใหญ่โตกว่าเขาเพื่อน เนื้อหาดูสบายๆ คู่สีเบา แรง ซับซ้อนลงตัว และมีประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจ ภาพนี้มีเซียมตั้งชื่อให้ว่า “วัยรุ่น” เป็นภาพเต็มตัวของหญิงสาวนอนกระดิกขา เท้าคาง กำลังอ่านหนังสือปกแดงแจ๋ด้วยสีหน้าและแววตาอันเปี่ยมไปด้วยความเพลิดเพลินอยู่ในสวนคลาคล่ำไปด้วยพืชพรรณอันเขียวฉอุ่ม
ไม่น่าแปลกที่ภาพวาดสีสวย ขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มที่หันมองทีไรก็เกิดความสุข และสร้างสรรค์จากฝีแปรงของศิลปินชั้นเยี่ยมระดับชาติภาพนี้จะเป็นที่หมายปองของใครก็ตามที่ได้พบเห็น และในที่สุดผู้โชคดีที่จีบสำเร็จก็ไม่ใช่หอศิลป์ที่ไหน กลับเป็นครอบครัวเพื่อนบ้านที่อาศัยในซอยหลังสวนใกล้ๆ ในระยะแค่เดินถึง ซึ่งมีเซียมเองก็สนิทสนมและไปมาหาสู่กับบ้านนี้อยู่เสมอๆ ครอบครัวที่ว่าคือครอบครัวของ ดร. สุจิต หิรัญพฤกษ์ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดปทุมธานี เจ้าของกิจการฟาร์มไข่มุก และกันยา หิรัญพฤกษ์ (นามสกุลเดิม เทียนสว่าง) ภรรยาสาวงามซึ่งได้ตำแหน่ง “นางสาวสยาม” คนแรกของประเทศไทย เล่ามาถึงตรงนี้คนส่วนใหญที่เกิดไม่ทันอาจงงๆ ว่านางสาวสยามคืออะไร นางสาวสยามคือการประกวดสาวงามยุคก่อนจะมีการประกวดนางสาวไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานฉลองรัฐธรรมนูญเทศกาลสุดอลังการที่รัฐบาลจัดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีระหว่างช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๐๐ และการประกวดนางสาวสยามจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ – ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ งานเดียวกับที่กันยา เทียนสว่าง คว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จนั่นเอ
ภาพ “วัยรุ่น” ถูกนำไปใส่กรอบไม้สักขลิบทองแขวนเอาไว้บนผนังห้องโถงในบ้านหิรัญพฤกษ์ ซอยหลังสวน อย่างภาคภูมิใจ เป็นที่คุ้นตาของสมาชิกครอบครัวและแขกเหรื่อ และเมื่อครั้งใดหากมีเซียมจะจัดงานแสดงหรือตีพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงาน ก็จะมาชวน “วัยรุ่น” ไปโชว์ตัว หรือพา “วัยรุ่น” ไปถ่ายแบบลงหนังสือด้วยเป็นประจำจนมีคนจำได้
ความสำคัญของภาพ ”วัยรุ่น” นอกจากจะเป็นภาพดังชิ้นดารา ยังเป็นแรงบันดาลใจ เปรียบเสมือนปฐมบทของงานสายประติมากรรมที่มีเซียม ยิบอินซอย หันมามุมานะสร้างสรรค์อย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมาตราบจนสิ้นอายุขัย เห็นได้จากผลงานที่มีเซียมปั้นคนในอิริยาบถต่างๆ ทั้งนอนเล่น กลิ้งเกลือก หกคะเมนตีลังกา นั้นดูยืดๆ ย้วยๆ และทิ้งร่องรอยหยาบๆ ในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ไม่ผิดเพี้ยนไปจากภาพวาด “วัยรุ่น” ในยุคเก่าก่อนของเธอเลย