บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันต่างกำลังมุ่งหน้าไปที่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยเฉพาะหลังการเปิดตัว ChatGPT ของ OpenAI เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงชั้นยอดที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลกตื่นตัว และออกมารายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเอไอของตัวเอง ทำให้ตลาดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขณะนี้เหมือนอยู่ในสงคราม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า เอไอเป็นตลาดการแข่งขันที่มีโอกาสมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
นั่นจึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า ท่ามกลางผู้เล่นจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใดกันจะเป็นผู้ชนะ และครอบครองส่วนแบ่งตลาดไว้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี การจะประเมินทั้งตลาดเอไอในภาพรวมนั้นเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดคะแน มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทการเงินระดับโลก จึงเลือกที่จะวิเคราะห์เฉพาะในหัวข้อ “เอไอผู้ช่วย” (AI Assistant) หรือระบบที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยในการจัดสรรชีวิตและการทำงานของเรา ให้รวดเร็ว เป็นระบบ และสะดวกสบายยิ่งขึ้น
มอร์แกน สแตนลีย์ วิเคราะห์บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หรือ “บิ๊กเทค” 4 เจ้า ที่คาดว่าน่าจะมีภาษีดีที่สุดในการพัฒนาเอไอผู้ช่วย ประกอบด้วย อัลฟาเบต (กูเกิล), แอมะซอน, เมตา และแอปเปิล
ความเปลี่ยนแปลงของ “กูเกิลเสิร์ช” หลังเปิดตัว “ระบบค้นหาแบบมีเอไอ”
รู้จัก “Element” แพลตฟอร์มช่วยธุรกิจ “ทำการตลาดแบบเจาะจงบุคคล”
“เฟซบุ๊ก” ยืนยัน “ยังไม่ตาย” แม้ผู้ใช้ที่เป็นคนหนุ่มสาวลดน้อยลงเรื่อย ๆ
นักวิเคราะห์ของ มอร์แกน สแตนลีย์ ประเมินว่า กูเกิลอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในแนวหน้าด้านฮาร์ดแวร์ ข้อมูล และเอไอ เช่นเดียวกับแอมะซอนและเมตา แต่สองรายนี้ต้องการ “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” จึงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ขณะที่แอปเปิลนั้นอยู่ในสภาวะ “ไม่แน่นอน”
เอไอผู้ช่วยในปัจจุบันเช่น Alexa ของแอมะซอน, Google Assistant ของกูเกิล และ Siri ของ Apple มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และผู้บริโภคค่อนข้างจำกัด แต่การเข้ามาของผู้ช่วยที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (แบบเดียวกับ ChatGPT) จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น
“เราเห็นโมเดลทรานสฟอร์เมอร์และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่นำไปสู่การพัฒนาเอไอผู้ช่วยยุคถัดไป พร้อมการปรับแต่งส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ตัวเลือกการใช้งานที่เพิ่มขึ้น (การค้นหาแบบโต้ตอบ การช่วยช้อปปิ้งออนไลน์ การให้คำแนะนำส่วนบุคคล การจัดการตารางเวลา การตรวจสอบสุขภาพและสถานะทางการเงิน การปรับปรุงการศึกษา และอื่น ๆ) และประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่สูงขึ้น” นักวิเคราะห์ขอมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าว
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การแข่งขันและการชนะในเรื่องของการพัฒนาเอไอผู้ช่วยนั้น ต้องการปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ และการลงทุน ซึ่งบิ๊กเทคทั้ง 4 เจ้าก็มีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันออกไป
กูเกิล
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กูเกิลมีผู้ใช้ประมาณ 3 พันล้านคนทั่วโลก โดยใช้ผ่านอุปกรณ์แอนดรอยด์ประมาณ 2.6 พันล้านคน และอีก 350 ล้านคนจากอุปกรณ์อื่น ๆ แต่ข้อมูลคือ “ตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญ”
“ยูทูบ, กูเกิลแมปส์ และเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น Gmail เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ... นอกจากนี้ กูเกิลยังมีความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและนักพัฒนาผ่านเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาเอไอที่เราคาดว่าจะเพิ่มชุดข้อมูลและการเข้าถึงเมื่อเวลาผ่านไป” นักวิเคราะห์กล่าว
พวกเขาเสริมว่า “ในขณะเดียวกัน โมเดลภาษาที่ล้ำสมัยและโมเดลหลายรูปแบบ เช่น LaMDA, PaLM และ MUM มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างผู้ช่วยส่วนตัวที่เหนือกว่า”
แอมะซอน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า แอมะซอนมีชุดข้อมูลการซื้อของผู้บริโภคต่อคนที่ใหญ่ที่สุดและขยายขีดความสามารถของเอไอ แต่ “ฮาร์ดแวร์ยังล้าหลังที่สุด” แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ถึง 400 ล้านเครื่องก็ตาม ซึ่งถือว่าน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับกูเกิลและแอปเปิล
เมตา
เมตาสามารถเข้าถึงผู้ใช้ ข้อมูล และความเชี่ยวชาญด้านเอไอ แต่ขาดฮาร์ดแวร์อย่างมากเช่นเดียวกับแอมะซอน
Morgan Stanley กล่าวว่า “แม้ว่าเมตาจะไม่มีฐานด้านฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ แต่การเข้าถึงนั้นได้รับการเน้นย้ำโดยประชากร 3 พันล้านคนทั่วโลกที่ใช้งานแลพตฟอร์มของพวกเขารายวัน ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ Whatsapp
แอปเปิล
ในขณะเดียวกัน แอปเปิลอยู่ในตำแหน่งที่สามารถส่งมอบเอไอผู้ช่วยส่วนบุคคลในวงกว้างได้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก แต่ความสามารถของเอไอที่แอปเปิลมีกลับยังไม่ชัดเจน
เรื่องของฮาร์ดแวร์ไม่ใช่ปัญหาของแอปเปิล เพราะมีผู้ใช้อุปกรณ์ประมาณ 2 พันล้านเครื่องทั่วโลก โดยประมาณ 1.2 พันล้านเครื่องในจำนวนนี้เป็นไอโฟน (iPhone) และอุปกรณ์ส่วนใหญ่ก้เข้ากันได้กับ Siri อยู่แล้ว ทำให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะรวมเข้ากับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ และแอปเปิลก็มีข้อมูลผู้ใช้จำนวนมากเช่นกัน
ดังนั้น จุดอ่อนของแอปเปิลขณะนี้ คือการขาดข้อมูลประสิทธิภาพใด ๆ เกี่ยวกับความสามารถด้านเอไอของแอปเปิล เพราะท่ามกลางการเปิดตัวเอไอตัวนู้นตัวนี้ของบริษัทต่าง ๆ เรากลับไม่เห็นความเคลื่อนไหวด้านเอไอของแอปเปิลเลย
“ไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่า Apple กำลังสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของตัวเองหรือจะตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับผู้จำหน่ายเอไอโอเพนซอร์ส” นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์กล่าว
ผู้ชนะคือ...?
จากการประเมินข้างต้น โดยสรุปแล้ว มอร์แกน สแตนลีย์ ให้น้ำหนัก “กูเกิล” มากที่สุด ว่าจะเป็นผู้ที่สามารถครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของตลาด “เอไอผู้ช่วย” เอาไว้ได้ ด้วยความเพียบพร้อมในเกือบทุกด้าน ทั้งฮาร์ดแวร์และโมเดลเอไอต่าง ๆ ขาดแต่เพียงเรื่องของข้อมูลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ในสงครามการพัฒนาเอไอที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้นี้ เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าสุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้ชนะ
แต่ไม่ว่าใครจะคว้าชัยไป ก็เชื่อว่าเอไอผู้ช่วยที่บริษัทเหล่านี้พัฒนาขึ้น จะต้องส่งผลกระทบต่อชิตของพวกเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
เรียบเรียงจาก Wall Street Journal