กสทช. เร่งสรุปปม "เคโฟร์ฯ" เล็งพักใช้ใบอนุญาตหากผิดจริง

โดย PPTV Online

เผยแพร่

สำนักงาน กสทช. แจงปมบริษัท เคโฟร์ฯ หลังถูกร้องเรียนชวนลงทุนซิม-ตู้เติมเงิน เสียหายหลายล้าน ประกาศชัด พักใบอนุญาตหากผิดจริง

7 ธ.ค. 67 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณี บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ตามที่เป็นข่าว โดยสำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงรายละเอียด ดังนี้

บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เลขที่ TEL1/2562/009 ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562

คอนเทนต์แนะนำ
กสทช. ออกแพ็กเกจเน็ตมือถือฟรีสำหรับผู้พิการ 20 Mbps กว่า 1.1 ล้านสิทธิ
กสทช. ช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ สนับสนุนฟรี Wi-Fi - ตั้งข่ายวิทยุหนุน ปภ.
เช็กมือถือใหม่ได้การรับรองจาก กสทช. สิงหาคมนี้ มือถือจีนเพียบ!

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช.
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) โดยการประกอบธุรกิจของบริษัท เคโฟร์ฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. บริการ MVNO ในนามซิมการ์ด K4  เป็นบริการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง จาก กสทช. 
  2. ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” (ตู้เติมเงิน) และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4

ซึ่งธุรกิจนี้ไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อเคธี่ปันสุข จึงไม่ใช่บริการภายใต้การอนุญาตของ กสทช. และการให้บริการตู้เติมเงินก็ไม่ได้อยู่ในขอบเขตบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) ที่บริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง จาก กสทช.

ทั้งนี้ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 12.17 และเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ข้อ 16 มีข้อกำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตนำบริการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาตโดยตรงแก่ผู้ใช้บริการ

หรือจูงใจให้ผู้ใช้บริการใช้บริการของตน โดยการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการในลักษณะของธุรกิจเครือข่าย (Single level Marketing/Multi level Marketing) หรือลักษณะอื่นใด

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการดำเนินการและการประชาสัมพันธ์ในกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เชิญบริษัท เคโฟร์ฯ มาให้ข้อเท็จจริง จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 รวมทั้งเชิญสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าร่วมประชุมด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อเดือน ก.ค. 2567 สำนักงาน กสทช. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงินในลักษณะธุรกิจเครือข่าย และเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากพบผิดจริง

จากนั้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 สำนักงาน กสทช. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติฯ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อรับทราบข้อมูลการประกอบธุรกิจของบริษัท เคโฟร์ฯ และขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของการประกอบธุรกิจตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการขั้นตอนจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งสรุปข้อมูลในการให้บริการของบริษัท ว่าเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาตข้อ 12.17 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯ ที่กำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตนำบริการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาตโดยตรงแก่ผู้ใช้บริการ หรือไม่

เนื่องจากบริษัทฯ มีการกล่าวอ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงิน

ผลของการทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาต ข้อ 12.17  ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ส่งผลให้ต้องดำเนินการตามบังคับทางปกครองตามมาตรา 64 65 และ 66 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมไว้ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีมีกำหนดไว้ในข้อ 3 ที่สรุปได้ว่า

กสทช. อาจพิจารณามีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีตาม (2) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมจนเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

“ในส่วนของการให้บริการธุรกิจตู้เติมเงิน สำนักงาน กสทช. ได้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัท เคโฟร์ฯ และอยู่ระหว่างนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สคบ. ดีเอสไอ ธปท. และ ปปง. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายของหน่วยงานต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวร้องขอ” นายไตรรัตน์ กล่าว

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ