จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำงบประมาณไปใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ในวงเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวมภาษีมูลค่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท
ล่าสุดคณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการสื่อมวลชน เตรียมยื่นหนังสือขอคัดค้านการอนุมัติเงิน จากกองทุน กทปส.ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022
ไทยเจอโก่งราคาถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 เพราะกฎมัสต์แฮฟ
บราซิล ประกาศรายชื่อลุยฟุตบอลโลก 2022
ฟีฟ่าเตือนห้าม”วันไนท์สแตนด์”ฟุตบอลโลกปีนี้เสี่ยงติดคุก 7 ปี
โดยได้มีการเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)พิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ
หนึ่งในเหตุผลที่น่าสนใจในการคัดค้านครั้งนี้คือ กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอลแต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วยจึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ที่จะต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารให้เกิดประโยชน์สาธารณะ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงของประชาชนคนไทยในทุกกลุ่ม นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น
ดังนั้น คณาจารย์จาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการสื่อมวลชน จึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กทปส. ชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุนกทปส. รวมทั้งพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบต่อสาธารณะ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ของภาคประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ
ทั้งนี้จะได้มีการจัดแถลงข่าว ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่หอประชุมนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 10.00-10.30 น.
อย่างไรก็ตามทางในวันพุธที่ 9 พ.ย. นี้ทางบอร์ด กสทช. จะมีการอนุมัติว่าจะมีการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 หรือไม่
สำหรับ ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ จะแข่งระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค.นี้
รศ.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งบประมาณที่จะถูกนำมาใช้ในครั้งนี้เป็นของ กทปส. หากผ่านการอนุมัติก็จะขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน ส่งผลทำให้การวิจัยต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ซึ่งอาจกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
จึงขอเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. พิจารณาหาแนวทางอื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ รวมถึงเรียกร้องให้ กสทช. และ กทปส. ชี้แจงสถานะการเงินล่าสุดของกองทุนอย่างโปร่งใส
ส่วนที่ผ่านมา กสทช. เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส.จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิก จำนวน 5 รายการ ได้แก่ 1) การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 2) การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส 3) การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 4) การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2022 ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และ 5) เอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยทั้งหมดเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬา และมีหลายชนิดกีฬาที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้
ขณะที่ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีอีกจุดที่น่าเป็นห่วง คือ หากงบประมาณผ่านการพิจารณา เมื่อนำไปใช้แล้วอาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกองทุนที่ประชุมคณะกรรมการบริการกองทุน กทปส. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 ระบุว่า มีเป็นจำนวนเงินคงเหลือจากบัญชีที่ 1 คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท และ บัญชีที่ 2 คงเหลือ 804.27 ล้านบาท