ปรับปรุงร้านเกี๊ยวหนองบัว ร้านบะหมี่เจ้าแรกของจังหวัดตราด ด้วยการตกแต่งแบบร่วมสมัยแต่ไม่กระแสนิยม ปลุกตำนาน 50 ปี ให้ฟื้นคืนมาอยู่คู่กับเมืองตราด
“เกี๊ยวหนองบัว” เป็นร้านบะหมี่เจ้าแรกของจังหวัดตราดที่เปิดมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี โดยเจ้าของร้าน คือ “ลุงดั๊ง” ที่เริ่มต้นทำร้านมาด้วยความหลงใหลและอยากให้คนทานได้รับสิ่งดี ๆ ในทุก ๆ ชาม ทำให้บะหมี่เกี๋ยวร้านนี้เป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คน
แต่กาลเวลาที่ผ่านไปมีร้านใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาจำนวนมาก และร้านบะหมี่เกี๊ยวแห่งนี้ย่อมเสื่อมโทรมลงเป็นธรรมดา ทำให้มีลูกค้าน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ชวนเช็กอิน “ตำหนิโฮสเทล” ที่พักดีไซน์สวยที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ
เติมใหม่ในเก่า “หอเก็บน้ำเก่ากลายเป็นห้องสมุดลอยฟ้า” ที่ท่าฉลอม
“โอ๊ต” ลูกสาวลุงดั๋ง ทายาทร้านบะหมี่เกี๊ยวหนองบัว กับ “ชัช” หนุ่มมาดกวนพลังไอเดียเหลือล้น มีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานตํานานร้านเกี๊ยวหนองบัวต่อจากคุณพ่อให้อยู่กับตราดไปอีกนาน ๆ จึงเป็นตัวตั้งตัวตีที่อยากจะปรับปรุงร้านเกี๊ยวหนองบัวแห่งนี้
แต่คำถามสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ “เกี๊ยวหนองบัว” ยังเป็นตำนานที่ไม่เสื่อมสลายไป แต่ยังพัฒนาเติบโตอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ท่ามกลางอิทธิพลของกระแสนิยมที่ไปเร็วมาเร็ว
ปลุกตำนานร้านบะหมี่เก่าแก่ประจำจังหวัดตราด
โอ๊ตและชัช เริ่มถอดรหัสอัตลักษณ์จากเจ้าของร้าน ด้วยการพูดคุย ดูรูปถ่ายเก่า ไปเดินตลาด หรือแม้กระทั่งนวดบะหมี่กับคุณพ่อ จนพบว่าคุณค่าที่สำคัญอันเป็นตำนานอยู่ในวิธีคิดและความเรียบง่ายของชายวัย 70 ปีผู้ก่อตั้งร้านเกี๊ยวหนองบัวคนนี้
เราเป็นคนแรกที่ถีบรถบะหมี่เข้ามาขายที่ตราด จนตอนนี้เกือบ 50 ปีแล้ว รุ่นพ่อยังพาลูก ๆ เขามากิน จะให้เราใส่สีใส่สารกันบูด เราทำไม่ได้หรอก มันเหมือนเราจะไปฆ่าเขา
ประโยคที่กินใจนี้ ทำให้พวกเขานำความเป็นตัวตนของคุณพ่อมาใช้เป็นไอเดียในการปรับปรุงร้านบะหมี่ นำไปสู่งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่าย สมถะ แม้อาจดูธรรมดา ๆ ไปบ้าง แต่เข้าถึงง่าย พร้อมกับผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นของตราด ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ไม่ตามกระแสนิยมที่ไปไวมาไว จนได้รับรางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2565 ประเภทการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอาคารเดิม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
เป้าหมายในการออกแบบร้านเกี๊ยวหนองบัว อาจไม่ใช่ร้านที่จะสวยสง่าโดดเด่นอินเทรนด์เป็นหน้าตาของเมืองตราด แต่เป็นร้านที่เรียบง่ายเป็นมิตร และไม่ตามกระแสนิยม ที่อาจทำให้ความทันสมัยกลายเป็นความล้าสมัยในเวลาอันใกล้ เพื่อให้สามารถอยู่คู่กับเมืองตราดไปได้อีกนาน
ลุคใหม่แต่ยังคงความเป็นตัวตนตั้งแต่รุ่นแรก
การออกแบบอาคารภายนอก โอ๊ตและชัชเน้นความเรียบง่าย และคุมโทนด้วยสีขาว พร้อมกรุด้วยกระเบื้องแบบที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในร้านอาหารไทยที่สะท้อนความสมถะ เรียบง่าย และเจือกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น ด้วยประตูไม้ และช่องระแนงคอสองเหนือ ที่แอบซ่อนดีเทลความสนุกด้วยการลบมุมของอาคารให้มีความโค้งมน เพื่อดึงบุคลิกให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น
ส่วนการออกแบบภายในร้านยังคงกลิ่นอายความวินเทจเอาไว้ ด้วยการนำเฟอร์นิเจอร์ร้านบะหมี่ดั้งเดิมมาแต่งแต้มสีใหม่ คุมโทนด้วยสีขาวและสีน้ำตาลเป็นหลัก และเคาน์เตอร์ครัวของร้าน ก็ออกแบบใหม่ให้เป็นห้องกระจกที่สามารถชมบรรยากาศการทำบะหมี่ได้เหมือนเดิม แต่มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น
นอกจากนี้ในโซนโต๊ะที่นั่ง มีการออกแบบให้ลูกค้าสามารถเลือกระดับความเป็นส่วนตัวได้ เพราะใครที่อยากนั่งทานบะหมี่กับเพื่อน ๆ แบบส่วนตัวไม่พลุกพล่าน จะมีโซนด้านหลังที่มีฉากแบ่งเป็นบล็อก ๆ ให้นั่งทานได้อย่างสบายใจ
สำหรับจุดเด่นของร้าน คือ แคชเชียร์หน้าร้าน ที่ทำให้มีตำแหน่งและขนาดใกล้เคียงเดิม ซึ่งเป็นที่ทักทายลูกค้าก่อนเข้าร้านเสมอ ทำให้รู้สึกมี sense of place ที่ใกล้เคียงร้านในอดีต
และอีกจุดที่ไม่ควรพลาดถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก คือ โคมไฟตรงโถงทางเข้าที่ใช้ “งอบน้ำเชี่ยว” หนึ่งในงานหัตถกรรมของดีเมืองตราด เอามาเป็นไอเดียการตกแต่ง ที่หยิบของพื้น ๆ มาช่วยเพิ่มความสวยงามแบบพื้นถิ่น
ส่วนจุดที่ต่อเติมเพิ่มเข้ามา คือ “คอร์ทกลาง” เพื่อให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง แก้ปัญหาข้อจำกัดเดิมที่อาคารเป็นตึกแถว 3 คูหา ซึ่งแสงแดดส่องเข้าไปไม่ถึงภายใน ด้วยการเจาะทะลุลงมาจากชั้น 3 เพื่อการเชื่อมต่อระหว่างชั้น 1-3 ยกหลังคาบริเวณคอร์ทให้สูงขึ้น เพื่อการระบายอากาศทางตั้ง และมุงหลังคาโปร่งแสง เพื่อรับแสงสว่างลงมาที่คอร์ทต้นไม้ด้านล่าง พร้อมลดทอนสัดส่วนพื้นที่เดิม ที่มีความรู้สึกเวิ้งว้าง เปลี่ยนความรู้สึกให้อบอุ่น ใกล้ชิด และเป็นกันเองขึ้น
“ร้านเกี๊ยวหนองบัว” อาจไม่ใช่ร้านที่โดดเด่นเป็นหน้าตาของเมือง แต่เป็นร้านที่เรียบง่าย และเป็นมิตร ชวนดึงดูดทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกหลานหรือครอบครัวมาทานบะหมี่ดี ๆ ร่วมกันอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง เป็นเสน่ห์เช่นเดียวกับบุคลิกของลุงดั๊งเจ้าของร้านรุ่นแรก
“เรือนพินรัตน์” สถาปัตยกรรมแห่งความทรงจำที่หลอมรวมบ้านไม้หลังเก่า รำลึกบุคคลที่รัก
เปิดจุดเช็กอิน ‘ฉุยฟง คาเฟ่ 2’ ชมไร่ชาคว้ารางวัลดีไซน์ เพื่อคนทั้งมวล