วันเดียวเที่ยว“อยุธยา” ชวนนั่งรถไฟไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมงานศิลป์“ศิลปะชิ้นเอก”สุดล้ำค่าของไทยกว่าหลายร้อยผลงานในที่เดียว
การท่องเที่ยวด้วย “รถไฟ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สะดวกสบาย ราคาสบายกระเป๋า แถมยังได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมไทย ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลอดเส้นทาง เมื่อเรามองทอดออกไปทางริมหน้าต่าง เราจะสามารถชมความงามของธรรมชาติได้ สัมผัสกลิ่นอายของชุมชนริมทางรถไฟ และความหอมหวลของอาหารที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย โดยเฉพาะส้มตำไก่ย่าง หรือข้าวผัดรถไฟ เมนูตำนานคู่รถไฟไทย
สงกรานต์ส่งความห่วงใย ด้วยอาหารอุดมคุณค่าทางโภชนาการ
สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ในวันหยุดว่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ หลายคนมักลาพักร้อนในเดือนนี้ออกไปท่องเที่ยว หรือไปไหว้พระ เพื่อกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมศิริมงคลรับวันปีใหม่ไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เส้นทางรถไฟอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเดียวสามารถไปได้ทั้งเที่ยวและทำบุญภายในวันเดียวได้ โดยมีจุดเช็กอิน 2 แห่งที่ไม่ควรพลาด ดังนี้
1. วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์องค์ใหญ่สูงที่สุดในอยุธยา
หนึ่งในวัดสำคัญของคนไทย ที่หลายคนเมื่อพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะต้องนึกถึง “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ถูกสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 1900 เอาไว้สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ที่ไปบวชเรียนจากสำนักรัตนมหาเถระ ประเทศศรีลังกา เรียกว่า “คณะป่าแก้ว” จึงได้นามว่า “วัดป่าแก้ว”
ต่อมาคนทั้งหลายพากันเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีคณะสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวัรรัตนมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายคันถธุระ วัดแห่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจ้าพญาไท”
นอกจากนี้ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะ มังกะยอชวาพระมหาอุปราชของหงษาวดีแห่งพม่า ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งนั้น และพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ผู้คนทั้งหลายจึงเรียกวัดนี้แทนชื่อเดิมว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล”
ในปี พ.ศ. 2309 อาณาจักรคองบองได้ยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้า ให้ยกทัพเรือออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว แต่ทัพเรือสยามเสียทีข้าศึก กองทัพอาณาจักรคองบองได้ยึดเอาวัดป่าแก้วเป็นฐานปฏิบัติ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 วัดแห่งนี้จึงได้ร้างลงกว่า 400 ปี จนมีพระภิกษุ สามเณร แม่ชีกลุ่มหนึ่งโดยการนำของพระฉลวย สุธมฺโม ได้เข้ามาหักร้างถางพงที่รกเรื้อปกปิดอารามอันเก่าแก่แห่งนี้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมได้ 4 ปี ต่อมาท่านต้องการออกจาริกอีกครั้ง จึงได้ไปนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ (พระครูภาวนารังสี) ให้มาดูแลวัดใหญ่ชัยมงคล จากวัดร้างจึงกลายเป็นวัดราษฎร์ที่มีพระภิกษุจำพรรษา และได้กลายมาเป็นสถานที่กราบไหว้ขอพรของสาธุชนในปัจจุบันนี้
3 จุดท่องเที่ยวสำคัญ"วัดใหญ่ชัยมงคล"
- “พระเจดีย์ชัยมงคล” อนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีองค์เจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยาตั้งอยู่ ซึ่งรวมความสูงองค์เจดีย์จากฐานถึงยอดได้ 62.10 เมตร และภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด
- “พระพุทธไสยาสน์ หรือ "พระนอน” ลักษณะเป็นสีขาว ห่มคลุมด้วยจีวรตลอดทั้งร่าง ประดิษฐานอยู่บนพื้นที่เดิมของพระวิหารเก่าในอดีต
- “ตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งอยู่ด้านหลังวัด ภายในประดิษฐานพระบรมราชานุเสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผู้นับถือศรัทธาเข้ามากราบไหว้ด้วย นอกจากนี้บริเวณ รอบ ๆ ยังมีมีสวนหย่อมที่สวยงามให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจก่อนเดินทางออกจากวัด
พระพุทธไสยาสน์
อย่างไรก็ตามวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก “สถานีรถไฟบางปะอิน” มากนัก จากการสอบถามชาวบ้านภายในพื้นที่แนะนำว่าหลังสถานีรถไฟจะมีรถให้บริการอย่างรถสามล้อ ซึ่งสามารถนั่งแบบเสียค่าใช้จ่ายแบบเที่ยวต่อเที่ยว หรือจะเหมารถครึ่งวันก็ได้ นับว่าคนไหนไม่มีรถก็สามารถเดินทางมาได้ง่าย ๆ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงอยุธยา
แพทย์ศูนย์อุบัติเหตุ แนะวิธีป้องกัน-รับมือเหตุบนท้องถนน
หมอศูนย์อุบัติเหตุห่วงสงกรานต์ 7 วัน ระวังอันตรายบนท้องถนน
ฉากจำหลักไม้ เรื่องสังข์ทอง
2. พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน สถานที่รวบรวมงานศิลป์ล้ำค่าของไทยร้อยกว่าชิ้นภายในที่เดียว
“พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานศิลปะเทคนิคโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาไปจนถึงเทคนิคที่คิดค้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของช่างสถาบันสิริกิติ์ที่รังสรรค์อย่างพิถีพิถัน ด้วยสองมือของชาวนาชาวไร่ในถิ่นทุรกันดารทุกภาคทุกพื้นที่ของประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานโอกาสให้มาฝึกอบรมงานศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ ให้ชนรุ่นหลังได้ฝึกฝนงานหัตถศิลป์จนกลายเป็นช่างฝีมือดี เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรให้ช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผลงานทุกชิ้นของช่างสถาบันสิริกิติ์ ที่ผ่านการตรวจและคัดเลือกจากครูช่างน้อมเกล้าฯถวายให้พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในวโรกาสสำคัญ จะถูกนำมาจัดแสดงทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีแล้วร้อยกว่าชิ้น โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะมี 2 อาคารที่สำคัญ คือ “อาคารจัดแสดงนิทรรศการศิลปะชิ้นเอก” ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้นแรกจะจัดแสดงงานฝีมือ อาทิ เครื่องเงินเครื่องทอง, ลงยาสี, หมู่เรือพระที่นั่งจำลองจากขบวนเรือพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงศ์ เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ และเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย ซึ่งกลางลำเรือประดิษฐานบุษบกทองคำประกอบฉัตร และฉากจำหลักไม้ 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งเล่าเรื่องสังข์ทอง และด้านที่สองเล่าเรื่องหิมพานต์
ส่วนชั้นที่สอง จะจัดแสดงฉากทมทองขนาดใหญ่เรื่อง “รามเกียรติ์”, ฉากงานปักไหมน้อย 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งเล่าเรื่อง “หิมพานต์” และ ด้านที่สองเล่าเรื่อง “อิเหนา”, บุษบกมาลา และพระที่นั่งจำลอง เช่น พระที่นั่งพุดตานถมทอง และพระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง
นอกจากนี้ ยังมี “อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน” ที่จัดแสดงฉากการแสดง รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้แสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวบรวมชิ้นสำคัญ ๆ เอาไว้ด้วยกันในสถานที่แห่งนี้ โดยเฉพาะฉากหนุมานอมพลับพลา และฉากท้องพระโรงกรุงลงกา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสไปชม และศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของโขน
ฉากงานปักไหมน้อย เรื่องอิเหนา
5 ผลงาน “ศิลปะชิ้นเอก” ที่ควรค่าแก่การไปชม
อาคารนิทรรศการศิลปะชิ้นเอก
- “ฉากจำหลักไม้ 2 ด้าน” เป็นงานแกะสลักไม้สักที่ตระการตาใช้ช่างมือกว่า 79 คน และจัดทำถึง 2 ปี 7 เจ็ดเดือน โดยด้านที่หนึ่งเล่าเรื่องสังข์ทอง และด้านที่สองเล่าเรื่องหิมพานต์
- “ฉากงานปักไหมน้อย 2 ด้าน” เป็นงานปักเส้นไหมด้วยวิธีโบราณ โดยใช้เส้นไหมน้อยหรือเส้นเล็กที่สุดของรังไหม ปักไล่ระดับและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม ประดับด้วยดิ้นทองเลื่อมระยิบและแก้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ารถโดยสารประจำทาง 1 คัน ด้านที่หนึ่งเล่าเรื่อง "หิมพานต์" ใช้ช่างทำ 162 คน จัดทำนาน 2 ปี 6 เดือน และด้านที่สองเล่าเรื่อง "อิเหนา" ใช้ช่าง 143 คน จัดทำถึง 4 ปี
- “บุษบกมาลา” เป็นเครื่องประกอบราชอิสริยยศ จำลองแบบขึ้นมาจากพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยพระบรมมหาราชวัง โดยบุษบกจะมีเกรินทั้งซ้ายและขวา ซึ่งเป็นส่วนที่จัดทำยากที่สุด ผลงานชิ้นนี้ใช้ช่างรวมถึง 285 คน จัดทำนาน 1 ปี ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่สะท้อนให้เห็นถึงความประณีตของช่างสิริกิติ์ที่ไม่ควรพลาดแก่การไปชม
บุษบกมาลา
อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน
- “ฉากหนุมานอมพลับพลา” ฉากสุดวิจิตรจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนศึกมัยราพณ์ ที่นรมิตกายของหนุมานให้ใหญ่โตสูงถึง 8 เมตร และกว้างจนผู้แสดงเข้าไปอยู่ภายในได้ รวมทั้งยังใช้เทคนิคพิเศษทำให้ดวงตาของหนุมานยังสามารถกลอกกลิ้งไปมาได้
- “ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา” ฉากเด่นและเป็นฉากแรกของการแสดงโขนเกือบทุกตอน ซึ่งได้แนวความคิดการออกแบบมาจากท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอัมรินทร์ และนำมาจิตนาการใส่องค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อสื่อความหมายในการปกครองโบราณของไทย
ฉากหนุมานอมพลับพลา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอินหากเดินทางมาจากวัดใหญ่ชัยมงคล จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-15.30 หยุดช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีค่าเข้าชม 150 บาท แต่สำหรับผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี นิสิต-นักศึกษา 75 บาท ส่วนผู้ทุพพลภาพเข้าฟรี หากใครอยากพาคนในครอบครัวมาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย สถานที่แห่งนี้เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดว่าง ๆ เดือนเมษายนนี้
โหลดเลย! แอปฯท่องทางหลวง เพื่อความสะดวกคนเดินทางช่วงสงกรานต์2565