“อีลอน มัสก์” อาจถูกศาลสั่งบังคับซื้อ “ทวิตเตอร์” หลังประกาศถอนดีล
ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายชี้ “อีลอน มัสก์” อาจถูกศาลสหรัฐฯ สั่งบังคับให้เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ แม้จะยื่นยกเลิกการเข้าซื้อไปแล้วก็ตาม
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา ได้ให้ตัวแทนทางกฎหมายยื่นฟ้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) เพื่อขอยกเลิกการเข้าซื้อกิจการมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ของทวิตเตอร์
ทนายความของมัสก์บอกว่า ทวิตเตอร์ล้มเหลวในการให้ทีมงานของมัสก์เข้าถึงข้อมูลหลายรายการเกี่ยวกับบัญชีปลอม-บัญชีสแปม
ไม่ซื้อแล้ว! “อีลอน มัสก์” ถอนดีลเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์
อีลอน มัสก์ ขู่จะไม่ซื้อทวิตเตอร์แล้ว ปมบัญชีปลอมและสแปมบอท
บัญชีปลอม-สแปมบอท ปัญหาของทวิตเตอร์ที่ไม่แก้ไม่ได้
ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า อีลอน มัสก์ อาจถูกศาลสหรัฐฯ สั่งบังคับให้เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ แม้จะยื่นยกเลิกการเข้าซื้อไปแล้วก็ตาม โดย เบร็ต เทย์เลอร์ ประธานบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ระบุว่า บริษัทจะ “ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้ข้อตกลงการควบรวมกิจการ” และมั่นใจว่าจะฟ้องร้องสำเร็จด้วย
ในคืนวันอาทิตย์ (10 ก.ค.) มีรายงานว่า ทวิตเตอร์ได้รวมทีมกฎหมายเพื่อเตรียมฟ้องร้องมัสก์แล้ว รศ.ไบรตัน ควินน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายบอสตันคอลเลจ กล่าวว่า “ทวิตเตอร์มีแนวโน้มที่จะขอคำตัดสินจากศาลที่ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ทำผิดข้อตกลงซื้อขายกิจการ นอกจากนี้ พวกเขาจะขอคำสั่งจากศาลให้มัสก์ปฏิบัติตามภาระผูกพันภายใต้ข้อตกลงซื้อขายกิจการ”
ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงซื้อขายกิจการ ทวิตเตอร์สามารถขอให้ผู้พิพากษาบังคับให้มัสก์ซื้อบริษัทในราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นตามข้อตกลงเดิมได้ หรืออาจสามารถขอค่าธรรมเนียมยกเลิกการซื้อขาย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 ล้านบาท) จากมัสก์ได้
ควินน์กล่าวว่า ข้อโต้แย้งเรื่งบัญชีปลอม-บัญชีสแปมของมัสก์อาจจะล้มเหลวในชั้นศาล โดยบอกว่า การขอข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีสแปมของมัสก์นั้น “ไม่สมเหตุสมผล” และจะไม่ได้รับการยอมรับจากศาล “เขาไม่สามารถใช้เรื่องของคำขอข้อมูลที่ไม่มีเหตุผลเพื่อสร้างข้ออ้างในการละเมิดข้อตกลงได้”
ด้าน คาร์ล โทเบียส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ กล่าวว่า “การยื่นฟ้องของมัสก์ดูเหมือนจะไม่ทำให้เขามีเหตุผลทางกฎหมายที่เข้มแข็งพอที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงซื้อขายนี้ คำฟ้องร้องของเขาเป็นเพียงข้อกล่าวหาและข้อโต้แย้ง และผู้พิพากษาจะต้องตัดสินใจว่า หลักฐานที่มัสก์จะนำเสนอนั้นโน้มน้าวใจมากพอที่จะสนับสนุนให้มีการยุติข้อตกลงหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม โทเบียสกล่าวเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงที่จะตกลงกันได้ แทนที่จะจบลงในสถานการณ์ที่มัสก์จำเป็นต้องซื้อบริษัทที่เขาไม่ต้องการอีกต่อไป นักวิเคราะห์เตือนว่าการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้ออาจสร้างความเสียหายต่อราคาหุ้นของทวิตเตอร์และขวัญกำลังใจของพนักงาน
“ข้อพิพาทที่คล้ายคลึงกันส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ มักจะจบลงด้วยการตกลงประนีประนอมกัน เพื่อให้โจทก์และจำเลยรักษาหน้าไว้ทั้งคู่” โทเบียสกล่าว
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP
“ลิเทียม” ราคาพุ่ง ส่อกระทบเปลี่ยนผ่าน EV อาจไม่พอความต้องการทั่วโลก
เอกสารลับแฉ “อูเบอร์” ล็อบบี้ผู้มีอิทธิพลหลายประเทศเพื่อขยายธุรกิจ
โควิดวันนี้ (11ก.ค.65) ดับเพิ่ม 24 ราย ปอดอักเสบไม่ลด เฉียด 800 ราย