ปั่นหุ้นหรือเปล่า? มหากาพย์คู่ค้าดีลล่ม “อีลอน มัสก์-ทวิตเตอร์”
อีลอน มัสก์ ปั่นหุ้น? ย้อนดูการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นทวิตเตอร์ นับตั้งแต่มัสก์ประกาศจะซื้อจนกระทั่งประกาศล้มดีล
อีลอน มัสก์ นอกจากจะเป็นซีอีโอของเทสลา เจ้าพ่อเทคโนโลยีที่สนใจอวกาศ อีกหนึ่งฉายาที่คนมอบให้เขาคือ “นักปั่น” ซึ่งใช้เพียงโซเชียลมีเดียของตัวเองในการพลิกดินคว่ำฟ้ามูลค่าของตลาดหุ้นไปจนถึงเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี
มัสก์เคยได้พิสูจน์ความเป็นนักปั่นของตัวเองมาแล้วหลายครั้ง แต่เหตุการณ์ที่คนอาจจดจำได้มากที่สุดคงเป็น “Dogecoin (DOGE)” เหรียญหน้าสุนัขชิบะ ซึ่งก่อนปี 2021 มีมูลค่าต่อเหรียญไม่เกิน 1 เซนต์ หรือ 0.01 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 0.35 บาท) เท่านั้น
“ทวิตเตอร์” ยื่นฟ้องศาลแล้ว กรณี “อีลอน มัสก์” ล้มดีลซื้อกิจการ
“อีลอน มัสก์” อาจถูกศาลสั่งบังคับซื้อ “ทวิตเตอร์” หลังประกาศถอนดีล
ไม่ซื้อแล้ว! “อีลอน มัสก์” ถอนดีลเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์
แต่หลังจากถูกมัสก์ปั่นกระแส ก็ทำให้คนหันมาสนใจ จนราคาพุ่งไปแตะนิวไฮที่ 0.64 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23 บาท) ต่อเหรียญ ขึ้นมาจาการาคเดิมหลายสิบเท่าเลยทีเดียวในช่วงต้นเดือน พ.ค. แต่หลังจากนั้นกระแสก็เริ่มหายไป จนราคาปัจจุบันร่วงลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เซนต์ (ราว 2 บาท) โดยเฉลี่ย
และล่าสุดกับมหากาพย์คู่ค้าดีลล่มระหว่าง อีลอน มัสก์ กับบริษัทเจ้าของแพลตฟอรืมโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง ทวิตเตอร์ ก็ทำให้หลายคนเกิดความกังขาอีกครั้งว่า ดราม่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น มัสก์กำลังพยายามปั่นหุ้นอีกครั้งหรือไม่
นับตั้งแต่มัสก์ประกาศความตั้งใจที่จะซื้อกิจการทวิตเตอร์ในราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น รวมมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) วันที่ 14 เม.ย. ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50 ดอลลาร์ต่อหุ้น ณ สิ้นเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการดีดตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่กระแสหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงไปในช่วงปลายปี 2021
อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดตัวชวนตื่นเต้น ไม่นานมัสก์ก็เริ่มแสดงท่าทีเนื่องจาก ความลังเลใจที่จะทำตามข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ โดยอ้างเรื่องปัญหาบัญชีปลอมและบัญชีสแปม ทำให้หุ้นของทวิตเตอร์ร่วงลงอีกครั้ง
ช่วงกลางเดือน พ.ค. เมื่อมัสก์ประกาศชะลอข้อตกลงเข้าซื้อกิจการเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับบัญชีปลอม หุ้นของทวิตเตอร์ก็ร่วงลงจาก 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเหลือ 37 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
และเมื่อ อีลอน มัสก์ ลงดาบสุดท้าย ประกาศยกเลิกดีลเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ก็ทำให้ราคาหุ้นของทวิตเตอร์ร่วงไปเหลือราว 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นทันที
ล่าสุด บริษัททวิตเตอร์ได้ยื่นฟ้อง อีลอน มัสก์ ต่อศาลรัฐเดลาแวร์ เพื่อบังคับให้เขาเข้าซื้อกิจการตามข้อตกลงเดิม โดยระบุว่า “การถอนดีลของมัสก์เป็นแบบอย่างของความหน้าซื่อใจคด” และกล่าวหาว่า มัสก์มี “เจตนาที่ไม่บริสุทธิ์” ต่อทวิตเตอร์ และยังดำเนินการ “โจมตีและทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อบริษัท”
ทวิตเตอร์ระบุว่า “มัสก์ได้ทำข้อตกลงควบรวมกิจการกับทวิตเตอร์ โดยให้สัญญาว่าจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุข้อตกลง แต่ไม่ถึง 3 เดือนต่อมา มัสก์ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามภาระหน้าที่ของเขาที่มีต่อทวิตเตอร์และผู้ถือหุ้น เนื่องจากข้อตกลงนั้นไม่ได้สร้างผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับเขาอีกต่อไป”
ในข้อตกลงซื้อขายควบรวมกิจการ มีบทบัญญัติที่เรียกว่า “ข้อปฏิบัติเฉพาะ” ซึ่งศาลสามารถบังคับให้มัสก์ซื้อบริษัททวิตเตอร์ได้ และอาจถูกสั่งให้ต้องจ่ายเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อชดเชยการถอนตัวจากดีลซื้อขายกิจการ
หากมัสก์ต้องการที่จะหลุดพ้นจากข้อตกลงซื้อขายโดยไม่ต้องชดเชยหรือมีบทลงโทษ เขาก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ทวิตเตอร์กำลังสร้างผลกระทบในทางลบอย่างร้ายแรงต่อกิจการ หรือมีการผิดสัญญาจากฝั่งทวิตเตอร์
ดังนั้น มัสก์จะต้องหาข้อมูลและหลักฐานที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ว่า บัญชีปลอม-บัญชีสแปม สร้างความเสียหายของทวิตเตอร์และผู้ใช้งานจริง และ/หรือทวิตเตอร์มีการผิดเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอม-บัญชีสแปมจริง
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ดีลระหว่างอีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์ที่ล่มไม่เป็นท่านี้ อาจส่งผลเสียต่อการประเมินมูลค่าธุรกิจของทวิตเตอร์และความสามารถในการหาผู้ซื้อรายใหม่ในอนาคต
คาร์ล โทเบียส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ กล่าวว่า “การยื่นฟ้องของมัสก์ดูเหมือนจะไม่ทำให้เขามีเหตุผลทางกฎหมายที่เข้มแข็งพอที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงซื้อขายนี้ คำฟ้องร้องของเขาเป็นเพียงข้อกล่าวหาและข้อโต้แย้ง และผู้พิพากษาจะต้องตัดสินใจว่า หลักฐานที่มัสก์จะนำเสนอนั้นโน้มน้าวใจมากพอที่จะสนับสนุนให้มีการยุติข้อตกลงหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม โทเบียสกล่าวเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงที่จะตกลงกันได้ แทนที่จะจบลงในสถานการณ์ที่มัสก์จำเป็นต้องซื้อบริษัทที่เขาไม่ต้องการอีกต่อไป นักวิเคราะห์เตือนว่าการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้ออาจสร้างความเสียหายต่อราคาหุ้นของทวิตเตอร์และขวัญกำลังใจของพนักงาน
เปิดข้อมูลรายย่อยในไทย แห่ซื้อ LUNA ขาดทุนอ่วม 96% รวมเฉียดพันล้าน
วิกฤตศรีลังกา บทเรียนรัฐบาลผิดพลาด ฉุด“เศรษฐกิจพังพินาศ” ผู้นำเผ่นหนี
เรียบเรียงจาก Statista
ภาพจาก AFP