“Gebrüder Weiss” บริษัทขนส่งพัสดุเก่าแก่สุดในโลก ทำธุรกิจมากว่า 500 ปี!
ธุรกิจขนส่งพัสดุเฟื่องฟูอย่างมากในปัจจุบัน โดยมี “Gebrüder Weiss” เป็นต้นแบบสำคัญ เพราะดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมามากกว่า 500 ปี!
ในยุคปัจจุบัน นอกจากบริการฟู้ดเดลิเวอรีแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่มีฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือบริการขนส่งพัสดุ ทั้งในระยะทางที่สั้นและระยะไกลแบบข้ามประเทศหรือทวีป นั่นทำให้ทุกวันนี้ทั่วโลกเต็มไปด้วยบริการขนส่งพัสดุหลายเจ้า
แต่ท่ามกลางผู้ให้บริการส่งพัสดุหลากสีสันที่คนไทยคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น Flash Express, KEX, Lalamove, FedEx หรือ DHL Express มีผู้เล่นอีกหนึ่งเจ้าที่ในไทยอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อ แต่มีบทบาทยิ่งใหญ่มากในระดับโลก เพราะพวกเขาคือ “บริษัทขนส่งพัสดุเก่าแก่ที่สุดในโลก”

ถามว่าเก่าแก่ขนาดไหน ก็ในระดับที่ว่า ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 500 ปีนั่นแหละ!
เรากำลังพูดถึง “Gebrüder Weiss” (เกบรูเดอร์ ไวส์) บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ระดับโลกที่มีขอบข่ายการดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้ง การขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล และยังมีบริษัทในเครืออีกมากมาย เช่น บริษัทที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ บริษัทโซลูชันการสื่อสาร ฯลฯ

พนักงานส่งของในยุคแรก
การขนส่งพัสดุหรือจดหมายต่าง ๆ ในอดีตเป็นเรื่องยากแบบที่เราแทบจะจินตนาการกันไม่ออก โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเทือกเขาแอลป์ของยุโรปซึ่งพาดผ่านหลายประเทศ ได้แก่ โมนาโก ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ไลเคนสไตน์ เยอรมนี ออสเตรีย และสโลวีเนีย
เมื่อถึงศตวรรษที่ 12 สินค้าฟุ่มเฟือยมีความสำคัญมากขึ้น พนักงานส่งของ คนขับเรือ และคนขับรถม้าที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเข้ามาดำเนินการขนส่งจดหมายและสินค้า พนักงานส่งของเหล่านี้จะให้บริการแบบด่วน โดยรับผิดชอบเส้นทางทั้งหมดจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่ง
ต่อมาในปี 1474 หลังจากการปะทะอันนองเลือดระหว่างชาวสวิสและชาวออสเตรียสิ้นสุดลง ได้มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ และนำไปสู่การจัดตั้งบริการส่งของระหว่างประเทศ
บรรพบุรุษตระกูลไวส์ (Weiss) เห็นความสำคัญของการขนส่งนี้ จึงก่อตั้ง “Lindau Couriers” (ขนส่งลินเดา) ขึ้นในปี 1487 เพื่อขนส่งสินค้าทางไกลด้วยการเชื่อมศูนย์กลางการค้าสำคัญ 2 แห่งในสมัยนั้นเข้าด้วยกัน ได้แก่ เมืองมิลานอิตาลี และเมืองลินเดาของเยอรมนี ซึ่งอยู่ห่างกันราว 350 กิโลเมตร
โดยพนักงานส่งของเดินทางจากลินเดา ผ่านเมืองฟุสซัคของออสเตรีย และเมืองคูร์ของสวิตเซอร์แลนด์ ข้ามเส้นทางสปลูเคินที่เป็นเขาสูง 2,100 เมตร ลงสู่ทะเลสาบโคโม แล้วจึงเดินทางต่อไปยังมิลาน ซึ่งนี่เป็นเส้นทางที่เปิดออกหลังความขัดแย้งสวิส-ออสเตรียสิ้นสุดลง
ในช่วงแรก บริการของขนส่งลินเดาเป็นแบบทำงานตามใบสั่ง ก่อนจะกลายมาเป็นบริการประจำสัปดาห์ในศตวรรษที่ 16 เนื่องมาจากการค้าขายที่เพิ่มขึ้นระหว่างเยอรมนีตอนใต้และเมืองมิลาน ทำให้เริ่มมีหลายคนเรียกว่า “Milanese Couriers” (ขนส่งมิลาน)
ขนส่งลินเดาหรือขนส่งมิลานเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะบริการขนส่งที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ บันทึกของ โจเซฟ บัตเทนแบค ในปี 1627 บรรยายถึงการเดินทางผจญภัยจากลินเดาไปยังมิลานด้วยบริการของขนส่งลินเดา โดยเน้นถึงความปลอดภัยที่ผู้ให้บริการส่งของมอบให้

เปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งสมัยใหม่
ต่อมาการปรับปรุงถนนและบริการไปรษณีย์ใหม่จากภาครัฐใหม่ทำให้พนักงานส่งของลินเดา-มิลานต้องทำงานหนักขึ้น
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวไวส์ได้ปรับตัวโดยก่อตั้งสถานีพัก-กระจายสินค้าในฟุสซัคเมื่อปี 1781 ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับสถานีจัดเก็บและจัดการสินค้า รวมถึงเพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เกิดใหม่และเติบโตขึ้น
ขนส่งลินเดา-มิลานเป็นหนึ่งในบริการที่สำคัญที่สุดในแถบเทือกเขาแอลป์ พนักงานใช้หลากหลายวิธีในการขนส่งสินค้า เงิน ผ้าไหม หรืออาหาร เช่น เรือสำหรับล่องทะเลสาบ ม้าสำหรับพื้นที่ราบ และล่อสำหรับพื้นที่ภูเขา
นอกจากนี้ ในบริการขนส่งผู้โดยสาร หนึ่งในผู้โดยผู้โดยสารที่มีชื่อเสียงที่สุดของขนส่งลินเดา-มิลานคือ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ กวีชื่อดัง ที่ใช้บริการระหว่างทางกลับจากอิตาลีในปี 1788
ต่อมาในปี 1823 ในรุ่นของ “โจเซฟ ไวส์” เขากับพี่น้องต่างมารดาได้เปลี่ยนชื่อกิจการเป็น Gebrüder Weiss ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า “พี่น้องไวส์”
จากนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1872 Gebrüder Weiss ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทจากฟุสซัคไปยังเบรเกนซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางรถไฟ เนื่องจากการขนส่งระยะไกลได้รับการปฏิวัติโดยทางรถไฟ
จนถึงปี 1914 Gebrüder Weiss ได้ขยายสาขาไปในหลายเมืองของหลายประเทศ ทั้งเวียนนา ทรีเอสเต กอริเซีย เวนิส เจนัว เซนต์มาร์เกรเธน และโรมานชอร์
แต่บริษัทเจอวิกฤตในปี 1921 เมื่อยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน “เฟอร์ดินานด์ ไวส์” จึงเข้ามาบริหารบริษัท และแม้ว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่เขาสามารถขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่องและเปิดสาขาใหม่ในเมืองฮัมบูร์ก และเมืองเวลส์
วิกฤตระลอกสองตามมาในปี 1945 จากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสถานีรถไฟได้รับความเสียหายจากระเบิด และรถบรรทุกมักถูกกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรยึด อย่างไรก็ตาม บริษัทพบจุดเริ่มต้นใหม่ ด้วยการเน้นขนส่งอาหารและความช่วยเหลือ ทำให้ผ่านพ้นมาได้

จากนั้นในปี 1989 Gebrüder Weiss เติบโตจนขยายสาขาเพิ่มอีก เช่น ในบูดาเปสต์ ปราก เบอร์โน บราติสลาวา มาริบอร์ และลูบลิยานา รวมถึงก้าวเข้าสู่เอเชียด้วยการเปิดสาขาในจีน คือที่เซี่ยงไฮ้และชิงเต่า
เมื่ออินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้น บริษัทสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยนำระบบมาใช้ทำให้ลูกค้าและพันธมิตรสามารถติดตามและตรวจสอบการจัดส่ง และรับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงคลังได้ด้วยเพียงแค่คลิกเมาส์
หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา Gebrüder Weiss ขยายกิจการทั้งในโลกฝั่งตะวันออกและตะวันตก ก่อตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคในชิคาโก และตั้งสำนักงานอื่น ๆ ในนิวยอร์ก แอตแลนตา บอสตัน ดัลลาส และลอสแอนเจลิส นอกจากนี้ยังมีสาขาใหม่ในฮ่องกง เซินเจิ้น จ้านเจียง และกว่างโจว
แม้แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 Gebrüder Weiss ยังคงให้บริการทั้งหมด นอกจากนี้ยังเข้าสู่ตลาดในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย
ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานราว 8,700 คน ในสำนักงาน-สาขาเกือบ 200 แห่ง ซึ่งดำเนินงานอยู่ใน 36 ประเทศทั่วโลก “รวมถึงประเทศไทย” โดยเพิ่งเข้ามาเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2025 นี้เอง

ขยายตลาดเข้ามาในไทย
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2025 Gebrüder Weiss ระบุว่า กำลังขยายเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเล การจัดการศุลกากร และการขนส่งทางบกข้ามพรมแดน
Gebrüder Weiss เตรียมเปิดสำนักงานในประเทศใหม่ คือ ประเทศไทย ในวันที่ 1 มิ.ย. 2025 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และขยายเครือข่ายในภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โลธาร์ โทมา กรรมการผู้จัดการด้านอากาศและทางทะเลของ Gebrüder Weiss กล่าวว่า “สำนักงานในประเทศไทยจะช่วยให้เราปิดช่องว่างเชิงกลยุทธ์และสร้างการเชื่อมต่อโดยตรงกับตลาดเอเชียแปซิฟิกกลางสำหรับลูกค้าของเรา ประเทศไทยเป็นจุดหมายการส่งออกที่สำคัญซึ่งมีการเชื่อมโยงการค้าที่แข็งแกร่งกับสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่เราเป็นตัวแทนและมีสถานที่ตั้งเป็นของตัวเองด้วย”
บริษัทบอกว่า ในปี 2024 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.75 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า สินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของการค้าขาออกที่ 86% โดยมีหมวดหมู่หลัก ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร และอาหาร
เบื้องต้นสำนักงานในกรุงเทพฯ จะมีทีมงาน 20 คน ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเลระหว่างประเทศ การจัดการศุลกากร และบริการขนส่งทางบกทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน
คริสเตียน เพรดาน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Gebrüder Weiss กล่าวว่า “พนักงานของเรามีประสบการณ์หลายปีในการจัดการขนส่งระหว่างประเทศ ในระยะกลาง เรามุ่งหวังที่จะขยายบริการของเราในประเทศไทยให้รวมถึงโลจิสติกส์คลังสินค้า โดยเน้นเป็นพิเศษที่ภาคยานยนต์และเทคโนโลยีขั้นสูง”

ยังเติบโตได้แม้อยู่มาแล้ว 500 ปี
บริษัท Gebrüder Weiss ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่มานานกว่า 500 ปี โดยปีงบประมาณ 2024 มีรายได้สุทธิ 2.71 พันล้านยูโร (ราว 1 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อนหน้า
วูล์ฟราม เซงเกอร์-ไวส์ ซีอีโอของ Gebrüder Weiss กล่าวว่า “เราเดินหน้าอย่างมั่นคง แม้จะมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ แต่เราก็ได้รับส่วนแบ่งการตลาดและเติบโตขึ้น ... ด้วยการลงทุนในเครือข่าย ระบบอัตโนมัติ และนวัตกรรมดิจิทัลของเรา เราประสบความสำเร็จในการขยายขอบเขตบริการของเรา และพัฒนาโซลูชันการขนส่งที่ลูกค้าของเราต้องการ”
การขนส่งทางอากาศและทางทะเลเป็นภาคส่วนที่เติบโตมากที่สุดของบริษัท โดยรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 939 ล้านยูโร (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 21% รายได้ในกลุ่มการขนส่งทางบกและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 5%
บริษัทยังเริ่มก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์และไอทีที่ทันสมัย ซึ่งมีคลังสินค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทมีความรวดเร็วและลื่นไหลมากขึ้น
นอกจากนี้ Gebrüder Weiss มีแผนค่อย ๆ ปรับใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม โดยเริ่มก่อนในออสเตรีย ฮังการี โครเอเชีย และโรมาเนีย รวมถึงเปลี่ยนกองยานรถบรรทุกส่วนใหญ่ในออสเตรียเป็นน้ำมันพืชไฮโดรเจน (HVO) ซึ่งอาจช่วยลดการปล่อยคาร์บอรนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล
วูล์ฟรามอธิบายว่า “นอกจากปัญหาความยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐาน และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลแล้ว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอื่น ๆ อีกมากมาย เศรษฐกิจในยุโรปที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ภาษีศุลกากรใหม่ และวิกฤตในอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การแข่งขันของบริษัทต่าง ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น”
ซีอีโอเสริมว่า “Gebrüder Weiss จะยังคงรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยแนวทางที่เน้นโซลูชันและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยรวมให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า”
นี่คือธุรกิจระดับตำนานที่ยืนหยัดมาเกิน 500 ปี และเชื่อว่าจะยังคงเดินหน้าเติบโตไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า อยู๋มาแล้วตั้ง 500 ปี ขออยู่ต่ออีกหลายร้อยปีจะเป็นไรไป

เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5) (6)