งานวิจัยใหม่เผย “น้ำตาลเทียม” ปัจจัยเสี่ยงก่อโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง
เปิดผลการศึกษาใหม่พบ “น้ำตาลเทียม” เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมองให้เพิ่มขึ้นกว่า 9-18% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่กินน้ำตาลเทียมเลย
ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) พบว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยกินน้ำตาลกันคนละ 77 กรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่ควรได้รับต่อหนึ่งวัน โดยผู้ชายควรได้รับไม่เกิน 36 กรัม ขณะที่ผู้หญิงไม่ควรเกิน 25 กรัมเท่านั้น
แต่เพราะแค่น้ำอัดลม 1 กระป๋องก็มีน้ำตาลถึง 32 กรัมแล้ว การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มรสหวาน มีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และป่วยเป็นโรคอ้วน เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงได้
วัยรุ่นมีแนวโน้มป่วยโรคหัวใจมากขึ้น รู้ทัน 6 พฤติกรรมเสี่ยงป้องกันได้
"โรคหลอดเลือดสมอง" อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
ทำให้หลายคนหันไปกินอาหารที่มีส่วนผสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือดื่มเครื่องดื่มสูตรไดเอท
หากนั่นคือการแก้ปัญหาของเราเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล มีผลการวิจัยใหม่พบว่าเราอาจต้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ 9% และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่กินน้ำตาลเทียมเลย
รู้จัก “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”
"สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" หรือ "น้ำตาลเทียม" (Artificial Sweeteners) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะให้พลังงานหรือแคลอรี่ต่ำ หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีแคลอรี่เลย ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลเทียม โดยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้
- แอสปาร์แทม(Aspartame)
- อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K)
- นีโอแทม (Neotame)
- แซคคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร
- สตีเวีย (Stevia) หรือสารสกัดจากหญ้าหวาน
- ซูคราโลส (Sucralose)
ถึงแม้น้ำตาลเทียมจะให้ความหวานที่ใกล้เคียงกับน้ำตาลธรรมชาติ และใช้ปริมาณน้อย ก็ให้ความหวานที่มากกว่าหลายเท่าตัว ช่วยลดความอยากอาหาร ลดน้ำหนัก และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่น้ำตาลเทียมก็มีข้อควรระวังอยู่หลายอย่าง ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแอสปาร์แตม เนื่องจากมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ที่ทำให้ระดับฟีนิลอะลานีนในร่างกายสูงขึ้นได้
- ผู้ที่แพ้สารซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแซคคาริน ซึ่งเป็นน้ำตาลเทียมชนิดที่ถูกแปรสภาพมาจากสารซัลโฟนาไมด์ หากผู้บริโภครับประทานแซคคารินแล้วมีสัญญาณของการแพ้ อย่างหายใจลำบาก ผื่น หรือท้องเสีย ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
- มีหลักฐานบางส่วนชี้ว่า ซูคราโลสอาจส่งผลต่อความไวในการตอบสนองต่ออินซูลินและเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
วิจัยใหม่ชี้ “น้ำตาลเทียม” เพิ้มความเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง
ในปี 2014 มีผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (The Journal of the American Medical Association) พบว่า คนกินน้ำตาลประมาณ 17-21% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่กินน้ำตาลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 8% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน มากถึง 38% เป็นเหตุผลให้หลายคนหันไปกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม แต่สารให้ความหวานแทนน้ำตาลนี้จะเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา มีผลการศึกษาใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารทางการแพทย์บีเอ็มเจ (BMJ Journals) ที่นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้วิเคราะห์ข้อมูลจากชาวฝรั่งเศสมากกว่า 103,000 คน ที่เข้าร่วมการศึกษาโภชนาการออนไลน์ โดยในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาจะให้ผู้เข้าร่วมกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับอาหาร สุขภาพ การออกกำลังกาย การศึกษา การสูบบุหรี่ และอาชีพ นอกจากนี้ยังต้องให้ข้อมูลการกินอาหารในวันสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะต้องเข้าประเมินในแต่ละครั้ง ทุก ๆ 6 เดือน เป็นระยะเวลา 9 ปี
จากการศึกษาข้อมูลเหล่านั้น นักวิจัยพบว่า ประมาณ 37% ของบุคคลเหล่านี้กินน้ำตาลเทียม โดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 42 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับน้ำตาลเทียม 1 ซอง หรือกินน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาลประมาณ 3 ออนซ์ ส่วนผู้ที่กินน้ำตาลเทียมสูงสุด ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 78 มิลลิกรัม หรือเท่ากับน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาลประมาณ 6 ออนซ์ ขณะที่บางคนก็ไม่กินน้ำตาลเทียมเลยก็มี
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่กินและไม่กินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล พบว่ามีความแตกต่างกันในบางประการ คือผู้ที่กินน้ำตาลเทียมจะมีลักษณะ ดังนี้
- มีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยกว่า
- มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า
- มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากกว่า
- มีแนวโน้มที่จะกระฉับกระเฉงน้อยลง
- มีแนวโน้มที่จะติดตามอาหารลดน้ำหนักบางชนิดมากขึ้น
- กินไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรต ผลไม้และผักน้อย
- กินโซเดียม เนื้อสัตว์แปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนมมากกว่า
- ดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่า
เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างและความแปรปรวนอื่นๆ เหล่านี้ในด้านอายุ เพศ กิจกรรม การศึกษา สถานะการสูบบุหรี่ และประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้ที่กินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 9% ต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภคเลย และยังมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอีก 18%
ดังนั้นในตอนนี้ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยสำหรับร่างกาย อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันถึงผลลัพธ์เหล่านี้
“น้ำตาล”จากธรรมชาติดีที่สุด ไม่ควรกินเกิน 10% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน
แต่จนกว่าจะมีการศึกษาในเรื่องนี้มากเพียงพอจะสรุปได้ว่าน้ำตาลเทียมควรนำมาเป็นทางเลือกในการบริโภคน้ำตาลแทนหรือไม่นั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ควรบริโภคน้ำตาลประมาณวันละ 5-10% ของพลังงานที่เราควรได้รับในแต่ละวัน และให้จำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อย่างแอสปาร์แทม, ซูคราโลส, อะเซซัลเฟม-เค และ แซลคาริน
ส่วนสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ชนิดไซลิทอล, อิริทริทอล, อัลลูโลส, สตีวิโอไซด์ และน้ำตาลล่อฮังก้วย ยังไม่มีมีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ยิ่งเราใส่สารให้ความหวานทดแทนน้อยเท่าไรยิ่งดี
อย่างไรก็ตาม หากใครต้องการความหวานจากน้ำตาลแนะนำให้กินน้ำตาลธรรมชาติจากธรรมชาติจะดีกว่า และถ้าเป็นไปได้ให้ลองตั้งเป้า “30 วันลดปริมาณน้ำตาล” เพื่อช่วยให้เราค่อย ๆ ลดการกินน้ำตาลอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : POBPAD และ EatingWell
“กรุ๊ปเลือด” บ่งบอกความเสี่ยง "โรคหัวใจ-หลอดเลือด"
รู้ว่ามื้อเช้าสำคัญ แต่ทำไมถึงไม่หิว กินไม่ลงต้องทำอย่างไร