“ติดเชื้อในกระแสเลือด”ระบบภูมิคุ้มกันตก อันตรายนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เสมือนร่างกายติดพิษ จนทำให้ระบบร่างกายขัดข้องและนำไปสู่การช็อกเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที แล้วติดเชื้อได้อย่างไร ? ใครบ้างที่เสี่ยง?
“การติดเชื้อในกระแสเลือด” หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวคงไม่ติดกันง่ายๆ แต่หลายต่อหลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด จากหลายสาเหตุด้วยกัน 80% พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสและเชื้อรา ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา ทำให้เชื้อสามารถเกิดการอักเสบติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆ ได้
ลูกสาวแจ้งข่าว “แหลม มอริสัน” เข้าไอซียู หลังติดเชื้อในกระแสเลือด
เช็กสัญญาณ“ไขมันพอกตับ”จุดเริ่มต้น ตับแข็ง – มะเร็งตับ คนผอมก็เสี่ยงได้!
หากไม่ได้รับการรักษาและมีความรุนแรงมากอาจส่งผลให้ช็อคและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เชื้อร้ายต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมี 3 ปัจจัย ดังนี้
- ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ก็จะทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- โรคประจำตัว เช่น
- โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคก็จะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น
- โรคเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่เป็นเบาหวานจะทำให้มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคเสียไป
นอกจากนี้ในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่าคนหนุ่มสาวแม้ว่าไม่มีโรคประจำตัว เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ
- สาเหตุอื่นๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ได้แก่ การสวนทวาร การสวนปัสสาวะ และการใช้สายสวนหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
แบ่งการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น เป็น 3 ลักษณะ
- อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือมีอาการปวดหลังและปัสสาวะบ่อย แสดงว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น
- อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดรอยขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งในบางรอยนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ อย่างเช่นเป็นตุ่มหนองธรรมดา และในบางรอยนั้นมีลักษณะจำเพาะที่สามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ
- อาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วเกิน 20 ครั้งต่อนาทีเป็นต้น
อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือ อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว
- ถ้าเข้ารับการเจาะเลือด ค่าเม็ดเลือดขาวจะสูงกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร
- รู้สึกหนาว มือและเท้าเย็นมาก
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและปล่อยให้อาการกำเริบ จะปรากฏอาการรุนแรง ดังนี้
- รู้สึกตัวน้อยลง สับสนจนคิดอะไรไม่ออก
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผิวหนังอาจเกิดจุดหรือแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ โดยรอยช้ำเหล่านี้จะแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง
- ปัสสาวะน้อยลง
- เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก
"มือเท้าเย็น" อาจไม่ใช่แค่ขี้หนาว เสี่ยงสัญญาณโรคโลหิตจาง-เส้นเลือดตีบ
การวินิจฉัยแพทย์จะพิจารณาจากอาการ การซักประวัติ การเจาะเลือดตรวจอวัยวะที่คาดว่ามีการติดเชื้อ โดยการเพาะเชื้อ ส่วนการรักษานั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
- กำจัดแหล่งติดเชื้อ เช่น หากมีฝี ต้องกำจัดฝีออก หรือมีน้ำในปอดต้องทำการรักษาระบายน้ำออกจากปอด
- การให้ยาฆ่าเชื้อ แพทย์จะเลือกยาที่มีความครอบคลุมเชื้อ
- รักษาแบบประคับประคอง ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีอวัยวะส่วนใดล้มเหลวหรือไม่
สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยง รวมทั้งมีอาการอย่างที่อธิบายมา ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอรวมถึงรักษาโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด ดูแลในเรื่องของอาหารให้ครบ 5 หมู่ รักษาสุขอนามัยกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ และควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีเชื้อโรคเยอะ สถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดีด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไทและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาวะโลหิตจาง รู้ไม่ทันสัญญาณภัยเงียบ เสี่ยงหัวใจวาย-น้ำท่วมปอด
อาหารเสริมธาตุเหล็ก บำรุงเลือด สร้างเม็ดเลือดแดงป้องกันโลหิตจาง