ปัญหา “กลิ่นตัวแรง” ช่วงหน้าร้อน จบได้ด้วยการปรับพฤติกรรม
หน้าร้อน แดดแรง นอกจากฮีทสโตรก หรือ โรคผิวหนังต่างๆ ปัญหาใหญ่ที่หลายคนไม่กล้าบอกใคร คือ ปัญหา “กลิ่นตัว” โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งและต้องเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศต่อ วันนี้เรามีทางออกมาบอกค่ะ
อย่างที่ทราบโดยทั่วกันว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ โดยหลายพื้นที่มีอากาศที่ร้อนจัด แสงแดดและมลพิษต่างๆ ทำให้กระตุ้นการเกิดปัจจัยต่างๆอย่าง โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรกที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตที่เราได้มีการเตือนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ อย่างผด ผื่น คัน หรือในคนที่ตากแดดนานๆ อาจเกิดผิวไหม้เกรียมแดดขึ้นมาได้และสัญญาณเหล่านี้หกไม่ได้รับการรักษาอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้เช่น
ซัมเมอร์นี้! เลือดแว่นกันแดดอย่างไร? ปกป้องดวงตาภัยจากแดดสูงสุด
ค่าระดับความแรงของแดดแค่ไหน? เสี่ยงผิวไหม้แดดพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้
รู้หรือไม่ ? นอกจากปัญหาผิวยังมีปัญหากลิ่นตัวที่ตามมาเป็นขบวน ถึงแม้จะเป็นธรรมชาติ แต่หน้าร้อนก็กระตุ้นปัจจัยหลายอย่างทำให้บางคนมีแรงกว่าเดิม เช่น เหงื่อ ไคล ต่างๆ จริงอยู่ที่อาจไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ทำให้บั่นทอนความมั่นใจในการเข้าสังคมไปด้วย
รู้จักต่อมเหงื่อ และต่อมกลิ่นตัวต่อมผลิตเหงื่อของคนเรามีอยู่ 2 ชนิด
- ต่อมเหงื่อที่อยู่กระจายใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย มีหน้าที่ผลิตเหงื่อเพื่อระบายความร้อนจากภายในร่างกาย ดังนั้นต่อมเหงื่อชนิดนี้จะหลั่งเหงื่อออกมาเมื่อร่างกายอยู่ในที่ที่มีความร้อนหรือเมื่อเราออกกำลังกาย เพื่อควบคุมไม่ให้ความร้อนในร่างกายนั้นสูงเกินไป
- ต่อมเหงื่อชนิดที่ 2 เป็นต่อมเหงื่อชนิดที่พบที่บริเวณรักแร้และขาหนีบ และอาจพบที่หลังหูหรือซอกคอได้บ้าง นิยมเรียกว่า ต่อมกลิ่น พบได้ตั้งแต่เกิด แต่จะเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น มีหน้าที่ในการสร้างกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่งของคนเรา สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่นประกอบด้วย กรดไขมันหลายชนิด มีลักษณะเหลวข้น ปกติจะไม่มีกลิ่น แต่เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิว แล้วพบกับเชื้อแบคทีเรีย หรือจากที่เรากินอาหารกลิ่นแรงๆ ก็จะทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่น่าพิสมัยเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ที่กลิ่นตัวเหม็นเกิดจากกลิ่นของสารเคมี ชื่อ Trim ethylamine ซึ่งขจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะและน้ำคัดหลั่งของร่างกาย ในหน้าร้อน คนเราจะมีเหงื่อออกตามร่างกายจำนวนมาก ทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้บริเวณที่เหงื่อไม่สามารถระเหยได้สะดวก เช่น ซอกรักแร้ ซึ่งมีต่อมเหงื่ออะโปครายน์ (Apocrine) ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นตัวโดยตรง ขณะที่บางรายมีเหงื่อออกไม่มาก แม้จะอาบน้ำทำความสะอาดแล้ว กลิ่นตัวก็ยังฉุนอยู่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด ความกลัว ความโกรธ ก็เป็นได้เช่นกัน
อย่างที่บอกว่า เหงื่ออาจจะไม่ใช่ตัวการร้ายของเรื่องกลิ่นตัวเป็นเพียงปัจจัยเสริม จะสังเกตได้ว่า คนที่เพิ่งออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ บางคนมีกลิ่นตัว บางคนไม่มี ในขณะที่บางคนไม่มีเหงื่อแต่มีกลิ่นตัวแรงมากก็มี แสดงว่าสาเหตุการเกิดกลิ่นตัวไม่ใช่เรื่องของเหงื่อ แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- สาเหตุภายนอก คือ ปัจจัยความร้อนกระตุ้นเชื้อแบคทีเรีย หรือการเป็นเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมกลิ่น
- สาเหตุภายในร่างกาย คือ มีการขับสารบางอย่างออกมาจากต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ เช่น ความเครียด การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การกินอาหารที่มีกลิ่นแรงหรืออาหารที่มีรสเผ็ดพวกเครื่องเทศ กระเทียม การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะร่างกายหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ หรือภาวะสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นตัวที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับหรือโรคไต เป็นต้น
การรักษาและป้องกันการมีกลิ่นตัว
- การรักษาสุขอนามัยให้สะอาด ล้างทำความสะอาดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ จะช่วยลดปริมาณสารก่อกลิ่นที่หลั่งจากต่อมกลิ่นได้
- เลือกใช้สบู่ฆ่าเชื้อเพื่อช่วยลดปริมาณแบคทีเรีย แต่ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเพราะอาจทำให้ผิวแห้งและการระคายเคืองได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่ร้อนจัด อับชื้น อากาศไม่ถ่ายเท ลดกิจกรรมกระตุ้นให้เหงื่อออกมาก
- การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ใช้หลังจากทำความสะอาดร่างกายแล้ว สารระงับกลิ่นกายจะมีส่วนประกอบหลักคือ อลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) เพื่อลดการผลิตเหงื่อ บางผลิตภัณฑ์จะผสมสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสารที่ให้กลิ่นหอม สำหรับคนที่แพ้น้ำหอมควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีกลิ่นหอม หรือเลือกใช้สารส้มแทนได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้น้ำหอมเพื่อบดบังกลิ่นตัว เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และสร้างความรำคาญกับคนรอบข้างได้มากขึ้น
- การโกนขนบริเวณรักแร้หรือทำเลเซอร์กำจัดขน เพื่อป้องกันแบคทีเรียและการสะสมของสารก่อกลิ่น
- กินอาหารให้ ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินC, E เช่น แครอท ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- เลี่ยงอาหารและผลไม้บางชนิด ที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม สะตอ ทุเรียน พริกป่น เนย ตับ ถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งของสาร Trim ethylamine โดยจะถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อบริเวณต่อม
- การฉีด Botulinum toxin หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าโบท็อกซ์ โดยแพทย์จะฉีดสารนี้ที่ใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้ เพื่อลดการทำงานของต่อมกลิ่น เป็นวิธการรักษาที่ได้ผลดี แต่มีราคาสูง
- การผ่าตัดเอาต่อมกลิ่นออก เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่อาจมีผลข้างเคียงหลังการรักษา เช่น มีแผลเป็น การติดเชื้อ และต้องทำการรักษาโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
เตือน “ฮีทสโตรก”สัญญาณ-วิธีป้องกัน พบรุนแรงขึ้นเพราะสภาวะโลกร้อน
ส่วนใหญ่คนที่มีกลิ่นตัวมักจะไม่ได้กลิ่นของตัวเอง แต่กลิ่นจะไปรบกวนผู้คนรอบข้าง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับการบอกให้เจ้าตัวรู้ จึงควรเป็นคนที่ใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่จะช่วยกระซิบบอก กลิ่นตัวที่มากนี้อาจจะทำให้ขาดความมั่นใจหรือมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง ดังนั้นคนใกล้ชิดควรให้กำลังใจ และแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อให้กลิ่นตัวนั้นลดลง คืนความมั่นใจให้กลับคืนมา อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัดและไม่ตากแดดเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นตากันแดด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เน้นเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อไม่ให้ดูดความร้อนและการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และค่า PA +++ และทันทีที่กลับมาถึงบ้านให้อาบน้ำชำระร่างกายเพื่อความสดชื่นลดกลิ่นตัวด้วยนะคะ ที่สำคัญหากเกิดความผิดปกติของผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท และ สสส.
อย่าหาทำ! ดื่มแอลกอฮอล์ แกล้มทุเรียน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ตากแดดนานๆ เสี่ยง “มะเร็งผิวหนัง” จริงหรือไม่? สัญญาณของโรคคืออะไร?