“เท้าแบน” เช็กอาการเสี่ยง-วิธีดูแล ไขสาเหตุที่การเลือกรองเท้านั้นสำคัญ
“เท้าแบน” โรคที่พบบ่อยในมนุษย์ สามารถเจอได้ในทุกกลุ่มวัย แม้ไม่ร้ายแรง แต่กลับกวนใจทำให้เจ็บเท้าอยู่บ่อยๆ เช็กอาการเสี่ยง-วิธีดูแลตัวเอง ไขสาเหตุที่การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมนั้นสำคัญ
“เท้า” เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยรับแรงกระแทกและน้ำหนักตัวของร่างกาย แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากว่า 70% ของประชากรมีภาวะซ่อนเร้นเกี่ยวกับเท้าที่ผิดปกติ เช่น ปลายเท้าชี้เข้าด้านใน โรคเท้าปุก หรือนิ้วเท้าซ้อน ซึ่งบางความผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีก
ความผิดปกติของเท้าเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงภาวะซ่อนเร้นอยู่ภายใน โดยไม่แสดงอาการ หากไม่ได้ใช้เท้าทำงานหนัก
เปิดลิสต์ 6 อาหารดีที่สุด-ยอดแย่ กินแล้วส่งผลต่อกระดูก
6 ปัญหา "เท้าผิดรูป" ที่พบได้ตั้งแต่เกิด รักษาช้าอาจต้องผ่าตัด
เพราะเท้าที่ผิดรูปจะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวของเราได้ดีเท่าเท้าปกตินั่นเอง ซึ่งภาวะดังกล่าวพบได้บ่อยในคนเอเชีย โดยเฉพาะเด็กไทย
ภาวะเท้าแบน
อาการของส้นเท้าแบออกและหัวเข่าบิดเข้าหากัน เป็นความผิดปกติของเท้าที่พบได้บ่อยในมนุษย์ และมีความสัมพันธ์กับคนไทยมากจากสาเหตุของพันธุกรรม คือ อุ้งเท้าจากเดิมที่มีแนวโค้ง 20-25 องศา และการเรียงตัวของกระดูกทั้ง 26 ชิ้นสมบูรณ์ เกิดการผิดรูป ทำให้รับน้ำหนักตัวได้ไม่ดีอย่างที่ควร
ภาวะนี้จะถือว่าเป็นโรคต่อเมื่อมีอาการแสดงออก ส่วนมากจะเจอในวัยที่ล่วงเลยอายุ 30-40 ปีไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติม เพราะนั่นหมายความว่าคุณอาจเสี่ยงเป็นโรคเท้าแบน!
- เจ็บอุ้งเท้าและส้นเท้า แม้สวมใส่รองเท้าที่รองรับเท้าได้ดีและนุ่มสบายแล้ว
- ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น มีการอักเสบบวมแดงตามเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้า
- ทรงตัวลำบาก ยืนเขย่งขาไม่ได้ หรือเดินขึ้นลงบันไดลำบาก
- ไม่สามารถสวมใส่รองเท้าที่เคยใส่ได้ หรือรู้สึกอุ้งเท้าแบนมากยิ่งขึ้น
- รู้สึกชาฝ่าเท้า หรือเส้นเอ็นนิ้วเท้าอ่อนแรงหรือผิดรูปมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน กรณีที่มีภาวะเท้าแบนร่วมด้วย แนะนำให้ดูแลใส่ใจตัวเองเป็นพิเศษ เพราะความผิดปกติดังกล่าวอาจทำให้แผลที่เท้าเกิดขึ้นและรักษาได้ยาก อีกทั้งอาการเจ็บเท้าที่เกิดขึ้นจากการลงน้ำหนัก การทานยาลดการอักเสบบรรเทาอาการปวดอาจไม่ใช่คำตอบในการรักษาที่ถูกต้องนัก
ชนิดของภาวะเท้าแบน
ภาวะเท้าแบน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.) ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด ภาวะเท้าแบนแต่กำเนิด ภาวะนี้จะปรากฏลักษณะเท้าแบน 2 แบบ ได้แก่ เท้าแบนแบบนิ่ม และเท้าแบนแบบแข็ง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- เท้าแบนแบบนิ่ม (Flexible Flat Foot) ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้จัดเป็นภาวะเท้าแบนที่พบได้มากที่สุด พบตอนเป็นเด็ก เมื่อยืน ฝ่าเท้าจะราบไปกับพื้นทั้งหมด แต่เมื่อยกเท้าขึ้นมาจะเห็นช่องโค้งของฝ่าเท้า เท้าแบนแบบนิ่มไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
- เท้าแบนแบบแข็ง (Rigid Flat Foot) เท้าแบนลักษณะนี้พบได้น้อย โดยตรงอุ้งเท้าจะโค้งนูนออก เท้าผิดรูป แข็ง และเท้ามีลักษณะหมุนจากข้างนอกเข้าด้านในเสมอ (Pronation) ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดหากต้องยืนหรือเดินมากเกินไป รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการสวมรองเท้า
2.) ภาวะเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น เอ็นข้อเท้าหย่อนยาน ป่วยเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ ข้อเท้าเสื่อม หรือกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทขาซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเยอะและอายุมาก ทั้งนี้สาเหตุบางอย่างที่ทำให้เกิดภาวะเท้าแบนภายหลังมี ดังนี้
- เอ็นร้อยหวายสั้น (Short Archilles Tendon) ผู้ที่ส้นเท้ายกขึ้นจากพื้นก่อนส่วนอื่นของฝ่าเท้าเมื่อเดินหรือวิ่ง เกิดจากเอ็นร้อยหวายที่ยึดกระดูกส้นเท้ากับกล้ามเนื้อน่องสั้นเกินไป ผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนลักษณะนี้จะรู้สึกเจ็บเมื่อเดินหรือวิ่ง
- เอ็นเท้าอักเสบ (Posterior Tibial Tendon Dysfunction) ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้เกิดจากเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อน่องกับด้านในข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ บวม หรือฉีกขาด หากอุ้งเท้าได้รับการกระแทก จะทำให้รู้สึกเจ็บด้านในฝ่าเท้าและข้อเท้า
แนวทางการรักษาเท้าผิดรูป
การรักษาอย่างจริงจังควรทำเมื่อมีอาการปวดหรือรบกวนการใช้เท้าในชีวิตประจำวัน โดยเข้าไปพบศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้
1.) การฝึกเพิ่มความยืดหยุ่นเอ็นรอบข้อเท้าเพื่อป้องการการเกิดอาการปวด
- การยืดเอ็นร้อยหวายที่ขาซ้าย โดยมือค้ำผนังไว้ขาซ้ายเหยียดตึงไม่ยกส้นเท้าจากพื้น จากนั้นย่อตัวลงค้างไว้ 10-20 วินาที วันละ 10-20 รอบ หรือค่อยๆ ปรับจำนวนรอบขึ้นทุกวัน
- การยืนบนขอบบันได ให้ส้นเท้าข้างที่ต้องการ ยืดเอ็นพ้นบันไดออกมาค่อยๆ ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปค้างใน ท่านี้ 10 – 20 วินาที วันละ 10 – 20 รอบต่อวัน อีกหนึ่งท่า ที่แนะนำ คือ การนั่งยองๆ ค้างไว้ 10 – 20 วินาที วันละ 10 – 20 รอบต่อวัน ในท่าเท้าชิดกันส้นเท้าไม่ยกจากพื้น
2.) การกินยาแก้ปวด การกินยา ฉีดยาเพื่อลดอาการอักเสบ
3.) การพบแพทย์ตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวด หรือผิดปกติในการใช้งาน
4.) การใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้า หรือเท้าเพื่อปรับรูปเท้าขณะที่สวมอุปกรณ์จะทำให้อาการเบาลง
5.) การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด หรือปัญหา
วิธีดูแลตัวเอง
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสม ผู้มีภาวะเท้าแบนควรเลือกรองเท้าที่ มีส่วนเสริมช่วยพยุงอุ้งเท้า รวมถึงรองเท้าควรมีวัสดุแข็งหุ้มทั้งด้านข้างและหลังเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้ส้นเท้าบิดหรือทำให้เท้าล้มเข้าด้านใน
- เสริมพื้นรองภายในเท้า โดยการใช้แผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับสภาพของเท้า เพื่อช่วยพยุงและลดแรงการแทกไม่ให้เท้าบิดขณะวิ่งหรือเดิน ปัจจุบันมีทั้งแบบเป็นซิลิโคน แผ่นรองเท้า และวัสดุอื่นๆ มากมาย ทั้งนี้นักวิ่งควรลองสวมพร้อมรองเท้าที่ใช้ประจำเพื่อความกระชับและเหมาะสมกับเท้าของแต่ละคน รวมถึงผู้มีปัญหาเท้าแบนมากๆ ความพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเลือกอุปกรณ์เสริมที่ปลอดภัย
- เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อหน้าแข้งด้านใน กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้า และกล้ามเนื้อในฝ่าเท้า จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บของนักวิ่งที่มีภาวะเท้าแบนได้
- การกินยา ฉีดยา เพื่อลดอาการอักเสบ หรือการทำกายภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น อัลตราซาวน์ เลเซอร์ สามารถช่วยลดอาการปวดจากภาวะนี้ได้
ภาวะเท้าแบนแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอันตราย แต่หากปล่อยไว้ก็จะทำลายความสุขและคุณภาพในการใช้ชีวิตได้ ซึ่งการป้องกันนั้นก็สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตรูปเท้าของลูก ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยหากสังเกตพบว่ารูปเท้าผิดรูป แบนผิดปกติ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อปรับรองเท้าให้มีการหนุนอุ้งเสริมตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อลูกโตขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลเปาโล
“ไข่” มีวิตามินดีเท่าไร ทำไมถึงควรกินทุกวัน เสริมสร้างกระดูกแข็งแรง
กระดูกหักเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาไม่ถูกอาจพิการ เช็กวิธีป้องกัน-ดูแลรักษา