สะดุ้งตื่นเพราะตะคริว! เช็กความผิดปกติ ปล่อยไว้เรื้อรังอาจก่อโรค
หลายคนอาจเคยสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะเป็นตะคริวที่ขา ทำให้การนอนในคืนนั้นผ่านไปอย่างไม่ราบรื่น รู้หรือไม่ว่า! การเป็นตะคริวขณะที่นอนหลับอยู่นั้นเกิดจากสาเหตุใด? แล้วเป็นไปได้ไหมว่าเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่าง?แล้วเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ ?
รู้จัก “ตะคริว” กันก่อนค่ะ เป็นอาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวอย่างฉับพลัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง บริเวณที่เกิดได้บ่อยคือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและด้านหน้า ส่วนการเป็นตะคริวตอนกลางคืนขณะนอนหลับที่ทำให้ต้องตื่นมากลางดึกนั้นจะเรียกว่า “ตะคริวตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps)”
“ตะคริวตอนกลางคืน” เป็นบ่อยอันตราย? แล้วอาการแบบไหนควรพบแพทย์
ปวดหลังแบบไหน? ควรพบแพทย์ สัญญาณที่ไม่ควรละเลย
สาเหตุของ “ตะคริวตอนกลางคืน”
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตะคริวที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนขณะที่เราหลับอยู่นั้นเกิดจากสาเหตุใด แต่มีข้อมูลพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของกล้ามเนื้อ การทำงานผิดปกติของเส้นประสาท และการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี อีกทั้งยังมีเรื่องของภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น
- นอนในท่าที่ผิด ขณะนอนหลับ หากวางเท้าในลักษณะที่ไม่ถูกต้องก็อาจเป็นตะคริวได้
- ในตอนกลางวันมักนั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย
- กล้ามเนื้อทำงานหนักมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนัก มีการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขาหนักมาก
- กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี
- มีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
- ปัญหาโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
ซึ่งการเกิดตะคริวอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนั้นเราจึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพื่อแจ้งแก่แพทย์ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่ ?
หลายคนอาจคิดว่า “ตะคริวตอนนอน” เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เป็น แต่หากมีสัญญาณเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าคุณเริ่มมีความผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
- เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยครั้งจนรบกวนการนอน แม้ดูแลตัวเองดีแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น
- มีอาการขาบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
ดูไปสะดุ้งไป! หาคำตอบว่าทำไมถึงชอบดู “หนังสยองขวัญ”
บรรเทา “ตะคริวตอนนอน” ด้วยตัวเอง
โดยส่วนใหญ่ “ตะคริวตอนนอน” มักไม่เป็นอันตราย และเราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง โดยใช้วิธีง่ายๆ ดังนี้
- นวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- ยืดกล้ามเนื้อ โดยเหยียดขาให้ตรง ค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
- ประคบร้อนในบริเวณที่เป็นตะคริวด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อน หรือประคบเย็นด้วยผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นหนึ่ง
- หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน ได้
ดูแลตัวเอง...เพื่อเลี่ยงเป็นตะคริวตอนนอน
เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสในการเป็นตะคริวตอนนอนได้ เพื่อการนอนหลับสนิทตลอดคืนโดยไม่ต้องตื่นมากลางดึก
- พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ
- ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
- พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
- พยายามลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง อาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน ผักโขม และอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ควรได้รับสารอาหารเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป
ช่วงเวลาการนอนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการเพื่อการซ่อมแซมและชาร์ตพลังงานให้กลับมาสดชื่นในเช้าวันใหม่ แต่หากการนอนหลับพักผ่อนต้องมาสะดุดเพราะเป็น “ตะคริวตอนกลางคืน” บ่อยๆ คงไม่ดีแน่ เพราะคุณภาพการนอนจะเสียไปและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ใครที่มีปัญหานี้จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้พบ และทำการรักษาอย่างตรงจุดต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท