“ตะคริวตอนกลางคืน” เป็นบ่อยอันตราย? แล้วอาการแบบไหนควรพบแพทย์
นอนหลับอยู่ดีๆ ต้องสะดุ้งตื่นเพราะ เป็นตะคริว หาต้นตอสาเหตุและปัจจัยเสริมของตะคริว พร้อมวิธีแก้ อาการตะคริวแบบไหนควรพบแพทย์ด่วน หมดปัญหาตื่นกลางดึก
ตะคริว คือ การหดเกร็งที่ทำให้กล้ามเนื้อปวดและเป็นก้อนแข็ง ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยที่ไม่สามารถบังคับได้ บางครั้งก็อาจมีอาการปวดหรือเจ็บที่เกิดการหดเกร็ง ซึ่งจะเป็นอยู่เพียงแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ทิ้งเวลาไว้ซักพักอาการก็จะดีสักพักอาการจะดีขึ้นการเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขาและพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
วิธีแก้ “สะอึก” ปล่อยเรื้อรังอาจไม่ใช่แค่น่ารำคาญ แต่ร่างกายฟ้องโรค
แนะวิธีการตรวจโควิด-19 “เด็กเล็ก”หลังจบวันเด็ก 2566
สาเหตุการเกิดตะคริว
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี หรือการนอนผิดท่า ตลอดจนมีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น หรือ ปัญหาโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
ปัจจัยเสริมอาจเกิดตะคริว
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง คือเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกาย และมักจะเป็นอยู่นาน
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า หรือกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้อขาดเลือด หากออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ
- การนอน นั่ง หรือยืน ในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ ก็ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก และเกิดตะคริวได้เช่นกัน
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนาน ๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
เทคนิคแก้ปัญหาการเกิด “ตะคริว” ระหว่างนอนหลับ
ส่วนคนที่มักจะเป็นตะคริวระหว่างหลับ ควรนอนในท่าที่ผ่อนคลาย อย่าให้กล้ามเนื้อตึง และควรจะห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และหากเกิดอาการเป็นตะคริวขึ้นมาในตอนกลางคืนหรือในขณะที่นอน ให้คุณยืดกล้ามเนื้อขา โดยยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 5 วิ ทำแบบนี้ 5-10 ครั้งแล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย
รู้จักนิสัย-วิธีดูแลสุขภาพ “เลือดกรุ๊ปบี” กินอะไรดี ทำไมถึงโสด
แนะนำสำหรับผู้เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อย
- ควรดื่มนมก่อนนอนเพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกาย
- พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ
- ยกขาให้สูงโดยใช้หมอนรองขาให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4 นิ้ว
- ฝึกยึดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อย ๆ
- พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
- พยายามลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง อาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน ผักโขม และอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ควรได้รับสารอาหารเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยครั้งจนรบกวนการนอน แม้ดูแลตัวเองดีแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น
- มีอาการขาบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
นอกจากนี้ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะตะคริว มักเกิดในผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและมีร่างกายที่อ่อนแอ และไม่ดีแน่หากถูกรบกวนเวลานอนบ่อยๆ เพราะจะเสียไปและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ใครที่มีปัญหานี้จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้พบ จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาลพญาไท
5 เหตุผล ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ เปลี่ยนความคิด สร้างสุขภาพดีที่ด้วยตัวคุณ
6 สุดยอดเครื่องดื่มอายุยืน ลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์-โรคหัวใจ ร่างกายอักเสบ