“ไข้เลือดออก”อาการเบื้องต้นแตกต่างจากโควิด-19 อย่างไร?
ในช่วงฝนตกชุดในหลายพื้นที่ทำให้ไข้เลือดออกกลับมาระบาดพุ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 3.3 เท่า และคร่าชีวิตต่อเนื่อง รู้จักไวรัสเดงกี ระยะฟักตัวของโรค วิธีสังเกตว่าอาการแบบนี้ไข้เลือดออกหรือโควิด19 ? ทำไมห้ามกินอาหารสีดำ-แดง เช็กเลยอาการแบบไหนควรพบแพทย์
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ล่าสุดไข้เลือดออกในประเทศไทยปี2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 21,457 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย
รู้จักไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกคือการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่ปัจจุบันพบ สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 ประเทศไทยมีการระบาดของ 4 สายพันธุ์วนเวียนกันไปแล้วแต่พื้นที่
“ไข้เลือดออก”สัญญาณภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิต-เป็นซ้ำเสี่ยงกว่าเดิม
ไข้เลือดออกป่วยแตะ 2 หมื่นคน คร่าชีวิตแล้ว 19 คน แนะมีอาการนี้รีบพบแพทย์
เพราะสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นอย่างประเทศไทย จะยิ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อบวกกับช่วงนี้มีฝนตกชุกทำให้ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคแพร่ระบาดมากขึ้นโดยเฉพาะยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหารเข้าสู่กระเพาะ สะสมในเซลล์ผนังกระเพาะจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เข้าสู่ต่อมน้ำลาย และเข้าในร่างกายคนที่ถูกกัดเป็นรายต่อไป เชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้
อาการของโรคไข้เลือดออก
- มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
- มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน
- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
- สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คืออาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
- บางรายมีภาวะตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
มีภาวการณ์ไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อาการป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออกและช็อกได้
โควิดกับไข้เลือดออกต่างกันอย่างไร ?
หากผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง แล้วพบว่าผลตรวจเป็นลบ แต่ยังมีอาการเหล่านี้ อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคไข้เลือดออก”
- มีไข้สูง ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้ ขึ้นสูงต่อเนื่องได้ถึง 2 – 5 วัน
- ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วยได้
- อาจพบจุดเล็ก ๆ สีแดงใต้ผิวหนัง มีเลือดออกตามไรฟันเลือดกำเดาไหล
อย่างไรก็ตามหากป่วยมีไข้สูงแต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจหรือมีอาการไอหนักหากตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่ยังมีอาการคล้ายไข้หวัดร่วมกับอาการข้างต้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ หรือไม่ ?
“ไข้เลือดออก” ทำไมควรเลี่ยงอาหารสีแดง สีดำหรือสีน้ำตาล แล้วกินอะไรได้?
อาหารสำหรับผู้ป่วยไข้เลือดออก
ผู้ป่วยควรรับประทานคือ ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม เลมอน หรือเกรปฟรุต เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย เพื่อให้มีเรี่ยวแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดี รวมทั้งต้องดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้
อาหารประเภทที่ต้องห้าม
- อาหารประเภทที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น แกงรสเผ็ด รสเปรี้ยว
- อาหารประเภทกรอบแข็ง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกตามเยื่อบุในปาก เลือดออกตามไรฟันได้
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะสีของอาหารอาจจะทำให้การสังเกตอาการเลือดออกในปัสสาวะและอุจจาระเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ป้องกันโรคด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่
- เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก
- เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
- เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัดให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
สามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
15 มิถุนายน “วันไข้เลือดออกอาเซียน” เร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกัน 3 โรค
"ยุง"กัดหนึ่งครั้งไม่ใช่แค่เสี่ยงไข้เลือดออก แต่เสี่ยงหลายโรคอันตรายถึงชีวิต