“ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้” คันจนเป็นตุ่มน้ำเหลือง วิธีการรักษา-ไม่กำเริบ
ปัจจัยเกิดอาการคันเรื้อรังจนเป็นตุ่มน้ำเหลือง หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่า น้ำเหลืองเสีย และวิธีรักษาไม่ให้อาการกำเริบ หายถาวร
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic eczema) มักพบบ่อยในเด็ก อาการเป็นๆ หายๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง
โรคผิวหนังอักเสบเอกซิมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- ปัจจัยภายใน คือลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เป็นปัจจัยพื้นฐานนั่นเอง
- ปัจจัยภายนอก การติดเชื้อที่ผิวหนังหรืออาหารบางชนิด
แพ้ฝุ่น PM2.5 ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ
คันยุบยิบ 1 ใน สัญญาณมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดดุโตไวเสี่ยงไตวาย
ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มักมาพบแพทย์
- ผื่นแดงคันตามข้อพับ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา คอ รักแร้ ขาหนีบ ร่องก้น
- ผื่นหรือตุ่มคันตามแขน ขา 2 ข้าง แต่บางรายก็เป็นข้างเดียว
- เป็นดวงหรือวงขาวบริเวณแก้ม แขน ขา หรือลำตัว อาจเป็นวงเดียวหรือหลายวง
- ตุ่มนูนบริเวณรูขุมขนส่วนแขน ขา
- ผื่นคันแดงหรือน้ำตาลบริเวณศอก เข่า ต้นคอ
- ผื่นแดงลอกเป็นสะเก็ดที่นิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือหรือ ฝ่าเท้า
- ริมฝีปากแดง แห้งลอกเป็นขุย เป็นๆหายๆ
อาการคันเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด การเกาหรือแกะผิวหนังอย่างมาก ทำให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบมากขึ้น มีน้ำเหลืองออกมาที่ผิวหนัง ยิ่งทำให้อาการคันกระจายไปทั่วตัวที่ ผื่นชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”โดยอาการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจมีร่วมด้วยได้แก่ อาการน้ำมูกไหล ไอ จามเป็นๆหายๆ หรือมีอาการ หอบหืดร่วมด้วย
ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
- สภาวะแวดล้อม
- เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา
- ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว
- เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์
- สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
- อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
- ความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช็กความรุนแรงละเลยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2 ปี
การดูแลรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค
- ดูแลตามความเสี่ยง ตามจุดอ่อนหรือความบกพร่องของผิวหนังเป็นลักษณะทางพันธุกรรมจะอยู่กับผู้ป่วยตลอดไป แต่ร่างกายของผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้โดยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นทาโลชั่นบำรุงผิวหนังอยู่เสมอๆ ตามสภาพอากาศ ไม่อาบน้ำอุ่นนานๆ เพราะน้ำอุ่นจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป แพทย์สามารถควบคุมโรคได้ในช่วงที่ผิวหนังอักเสบ แต่การดูแลอาการต่างๆ ของโรคในระยะยาวต้องอาศัยผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิดช่วยควบคุมและดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำให้โรคสงบหรือหายไปได้ในระยะยาว
- แพทย์จะควบคุมอาการคันด้วย ยาแก้คัน (Anti-histamine) ต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน จนไม่มีอาการคันติดต่อกัน 7 วันจึงหยุดยาแก้คันได้ อาการคันอาจไม่หายไปหมดจากการรับประทานยาให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นชโลมผิวหนังจะช่วยลดอาการคันได้ฃ
- ผิวหนังที่อักเสบแดงหรือเป็นขุยลอกให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ความแรงระดับกลาง เช่น Triamcinolone acetonide 0.1% cream, Betamethasone 17-valerate cream ทาวันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 7-14 วัน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากกระจายทั่วตัวหรือการอักเสบเป็นรุนแรงจนมีน้ำเหลืองออกมาอยู่บนผื่นผิวหนัง ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้ยารับประทานสเตียรอยด์และใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % เช็ดน้ำเหลืองอย่าปล่อยให้น้ำเหลืองเยิ้มอยู่ที่ผิวหนังเพราะจะทำให้เกิดอาการคันและตุ่มแดงกระจายทั่วตัวที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเหลืองเสีย”
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามที่แนะนำแล้ว จะช่วยลดการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบซ้ำกันได้ ในกรณีที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบผู้ป่วยสามารถใช้สเตียรอยด์ครีมความแรงที่เหมาะสมทาเพื่อช่วยให้ผื่นหายไปได้รวดเร็วขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่านในการดูแลโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ให้หายและเกิดเป็นซ้ำให้น้อยที่สุดหรือไม่เป็นอีกเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท และ โรงพยาบาลกรุงเทพ
“น้ำเหลืองไม่ดี” ไม่มีจริง? แล้วตุ่มคันพุพองหลังยุงกัดคืออะไร?