รับมือวัยทอง – วิธีสังเกตเข้าข่ายหรือยัง?ก่อนกระดูกพรุน-ปัสสาวะเล็ด
เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 2566 อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจเรื่อง “วัยทอง” ปัญหาที่แก้ได้ด้วยความเข้าใจ เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจจะทำคุณแม่ของใครหลายคนมีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ และไม่สบายตัวก่อปัญหาสุขภาพสารพัด แนะวิธีรับมือ8 อาการวัยทอง ป้องกันโรคแทรกซ้อน
วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน) หยุดการทำงานลงส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน ทั้งนี้หากประจำเดือนขาดหายไปเกิน 6 เดือน ให้สงสัยว่าอาจเข้าสู่วัยทองแล้ว ซึ่งสามารถพบได้ช่วงอายุ ประมาณ 48-52 ปี
อาการสังเกตเข้าข่ายอาการวัยทอง
- มีอาการร้อนวูบวาบ บริเวณช่วงคอ อก และบริเวณใบหน้า
- ซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด
5 สมุนไพรที่วัยทองควรติดบ้าน บำรุงเลือดลมสตรีและประจำเดือนมาไม่ปกติ
5 อาหารควบคุมฮอร์โมนวัยทอง ลดอารมณ์เหวี่ยงวีน-ป้องกันกระดูกพรุน
- ผิวพรรณเหี่ยว แห้ง ขาดความยืดหยุ่น
- ช่องคลอดแห้ง
- กระดูกพรุน
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ หรือมีปัสสาวะเล็ดราด
- ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ อ่อนเพลีย
รับมือ 8 อาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วง “สตรีวัยทอง”
- ประจำเดือนเปลี่ยนไป ลักษณะของประจำเดือนในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทองจะแตกต่างกันออกไป บางรายประจำเดือนอาจขาดและหายไปเลย ในขณะที่บางรายจะค่อยๆ น้อย และหมดลงถือว่าปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเลือดออกนานขึ้นเกิน 7 วันหรือออกกระปริดกระปรอยผิดปกติ ต้องตรวจหาสาเหตุให้ละเอียดและต้องคำนึงถึงโรคมะเร็งไว้ก่อน จึงไม่ควรปล่อยปะละเลย หรือหายาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพรวมทั้งสมุนไพรมากินเองเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือปวดท้องบริเวณท้องน้อย
- ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ตามมาด้วยอาการหนาวสั่น อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหากเกิดในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ
- หงุดหงิดง่าย เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และซึมเศร้า
- ช่องคลอดแห้ง ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ในสตรีอาการที่พบคือ ช่องคลอดแห้ง การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อรอบๆ ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบ และหย่อนตัว ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือหัวเราะรวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย
- กระดูกพรุนเปราะง่าย ปกติร่างกายจะมีการสร้างกระดูกใหม่และสลายกระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา โดยในวัยเด็กและวัยรุ่นการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นมากกว่าสลายกระดูก จากการศึกษาในประเทศไทยพบความหนาแน่นของเนื้อเยื่อกระดูกของสตรีไทยจะสูงสุดที่อายุ 30-34 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.3 - 0.5 ต่อปี หลังอายุ 35 ปี เนื่องจากการสลายกระดูกในลักษณะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 ปี กระดูกจึงอาจบางลงจนเกิดกระดูกพรุนได้ในวัยนี้ หากไม่มีการป้องกันใดๆ อาจทำให้กระดูกหักได้แม้เพียงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
- ภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผลต่อไขมันและระบบหลอดเลือด การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลทำให้ระดับไขมัน Cholesterol และไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมัน HDL จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
- หลงลืมง่าย เมื่อเข้าสู่วัยทองอาจมีอาการหลงลืมง่าย ความสามารถในการจำชื่อคน หรือข้อมูลสำคัญลดลง โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง และพบเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 70 โรคนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังอายุ 65 ปี และพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นมากในคนที่ไม่ค่อยใช้สมองคิดบ่อยๆ สตรีวัยทองไม่ควรปล่อยสมองให้อยู่นิ่ง ควรมีกิจกรรมให้สมองได้ทำงานบ่อยๆ เช่นการคิดเลข ต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น
- ภาวะนอนไม่หลับ บางรายอาจรู้สึกนอนไม่หลับเลยจนสว่าง หรือบางรายอาจนอนหลับๆ ตื่นๆ หลายรอบในแต่ละคืน ซึ่งอาการทั้งหมดจะให้ทำสมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก และส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้
“วัยทอง” ทำไมถึงเสี่ยงโรคกระดูกพรุนมากกว่า? แนะวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันโรค
รับมือเตรียมพร้อมสุขภาพ ก่อนเข้าสู่วัยทอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ฝึกสมาธิ บริหารจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
- เลือกรับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่
- ตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คระบบการทำงานของร่างกาย
- เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทน
สำหรับการรักษาอาการวัยทองในปัจจุบัน สามารถทำได้โดยการปรับสมดุลพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร การบริหารจัดการด้านอารมณ์ การออกกำลังกาย และการพิจารณาการใช้ฮอร์โมนทดแทน สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงกระทบเป็นปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
อย่าละเลย! “วัยทอง” ฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
10 สัญญาณขาดสารอาหาร ภัยของคนชอบกินแต่ผักผลไม้ไม่แตะเนื้อสัตว์