“แพ้อาหาร”ไม่ใช่เรื่องเล็กแต่บางคนไม่รู้ตัว วิธีสังเกตและวิธีปฐมพยาบาล
อาการ ‘แพ้อาหาร’ มักมีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ตาบวม ปากบวม เกิดผื่นลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ท้องเสีย อาเจียน และโดยมากมักแสดงอาการภายใน 30-60 นาที ซึ่งมีอาการไม่จำเพาะแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ซึ่งหากรู้ไม่ทันอาการแพ้อาจเสี่ยง แพ้รุนแรงอันตรายได้ถึงชีวิต
การแพ้อาหาร เป็นกลไกของระบบภูมิต้านทาน อธิบายง่ายๆ คือ หลังจากได้กินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ร่างกายจะมีการสร้างภูมิต้านทานออกมา และจะแสดงอาการเมื่อมีการรับประทานอาหารชนิดนั้นเข้าไปอีกครั้ง โดยอาหารนั้นจะไปกระตุ้น IgE (ภูมิต้านทานชนิด อี : Immunoglobulin E) ทำให้มีการหลั่งสารเคมี อย่างฮีสตามีน (Histamine) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้แสดงออกมาในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยอาการผิดปกตินี้อาจไปปรากฏที่ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือระบบหลอดเลือดและหัวใจ
กินสุกี้ร้านดัง แพ้รุนแรงหน้าบวมเป็นหนอง รักษาเกินครึ่งแสน จ่อฟ้อง สคบ.
“ภูมิแพ้อาหารแฝง” รู้ทันร่างกายลดป่วยเรื้อรัง คุณภาพชีวิตดีขึ้นหลายเท่า
ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) คืออาการจะรุนแรง หรือถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาการแพ้อาหารแฝง เกิดได้กับทุกระบบของร่างกาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และแต่ละชนิดของอาหาร เช่น
- อาการในระบบทางเดินอาหาร อย่างท้องอืด ท้องเฟ้อ ลำไส้แปรปรวน เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
- อาการทางผิวหนัง เช่น มีสิว ผื่นคันตามตัว
- อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ
- อาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง อย่างปวดไมเกรน ปวดหัว ปวดตามข้อ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย ได้เช่นกัน
ที่สำคัญอาการจะไม่ได้แสดงอย่างทันทีทันใด คืออาจเริ่มแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหลังทานอาหารผ่านไป 1 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก็เป็นได้
อย่างเช่นคนไข้ที่ชื่นชอบการทานซาลาเปา แต่เมื่อทานเข้าไปแล้วรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรงผิดปกติ หรือบางคนทานขนมปังเมื่อไหร่ก็จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะทุกที ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สาหัสแต่สร้างความรำคาญแบบนี้นี่แหล่ะ ที่อาจฟ้องว่าคุณกำลังแพ้อาหารชนิดนั้นๆ แบบแฝงโดยไม่รู้ตัว
จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้อาหารแฝง…ชนิดใด?
- สังเกตตัวเอง ว่าเมื่อทานอาหารชนิดไหนแล้วทำให้เกิดอาการแปลกๆ ที่อาจไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็สร้างความรำคาญและทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
- ตรวจเลือด นับเป็นวิธีที่ดีที่สุด และช่วยให้ทราบได้อย่างชัดเจนว่าแพ้อาหารชนิดใดบ้างถึง 222 ชนิดในการตรวจครั้งเดียว การตรวจก็ทำได้ง่ายๆ เหมือนการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป แต่ต้องรอผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการประมาณ 7 วัน
สาเหตุหลักของการแพ้อาหารแบบแฝง คือการที่เรารับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ในปริมาณมากหรือซ้ำบ่อยๆ จนร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน แพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้อย่างน้อยประมาณ 6 เดือน เช่น หากแพ้ข้าวเจ้า ก็อาจหันไปทานลูกเดือยทดแทน รวมกับการบำรุงร่างกายด้วยการอาหารที่ช่วยทำให้ระบบลำไส้แข็งแรง อย่างกลูตามีน แมกนีเซียม และโปรไบโอติก
การรักษาในกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีแพ้อาหารรุนแรง
บางรายการแพ้แบบผื่นลมพิษ เป็นเพียงอาการเริ่มแรกของการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากอาการผื่นลมพิษแล้ว อาจอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจไม่ออกด้วยหรือไม่ มีอาการบวมมากขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า รอบตา รอบปาก มีอาการพูดหรือหายใจไม่ได้ร่วมด้วยหรือไม่ มีคลื่นไส้อาเจียน และปวดท้องด้วยหรือเปล่า ถ้าพบอาการเหล่านี้แสดงว่าเป็นอาการแพ้แบบรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
“ภูมิแพ้” ปล่อยไว้นานอาจเรื้อรัง หายได้ด้วยการทดสอบ skin prick test
มีอาการแพ้อย่างรุนแรง...รักษาอย่างไร ?
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ควรพก เอพิเนฟริน (Epinephrine) แบบฉีด ซึ่งเป็นอะดรีนาลีน (Adrenaline) สังเคราะห์ ติดตัวไว้ เช่น เอพิเนฟรินในรูปแบบปากกา (EpiPen) ซึ่งสามารถฉีดสารนี้เข้าสู่กล้ามเนื้อต้นขาของผู้ป่วยได้ทันทีในขณะเกิดอาการ โดยผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด รวมถึงคนในครอบครัว ควรทราบวิธีการใช้อุปกรณ์ฉีดเอพิเนฟรินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะหากเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการฉีดเอพิเนฟรินเพื่อพยุงอาการ จากนั้นจึงรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอ คือ ต้องไปตรวจให้รู้ว่าตนเองนั้นแพ้อาหารประเภทไหน แล้วพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้และระมัดระวังในการเลือกกินอาหารทุกครั้ง รวมถึงพกพายาที่จำเป็นตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อนำมากินหรือใช้ได้อย่างทันทีเมื่อจำเป็น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติได้เหมือนคนทั่วไป
อย่างไรก็ตามหลังจากเว้นระยะการงดทานสิ่งที่แพ้ไปแล้ว 6 เดือน ก็สามารถกลับมาทานอาหารที่แพ้ได้อีกครั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าแม้กลับมาทานได้ก็มีโอกาสแพ้ได้อีก ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารแฝงขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลและโรงพยาบาลสมิติเวช
อยากชนะภูมิแพ้ต้องทำอย่างไร? รู้ทันตัวกระตุ้นบอกลาปัญหาผิว-ไอจามเรื้อรัง!