“สมองเสื่อม” ไม่เท่ากับ “อัลไซเมอร์” เช็กสาเหตุ-อาการทางสมองที่ต่างกัน
หลายครั้งที่เราได้ยินใครๆ พูดว่า ‘โรคสมองเสื่อมก็คือโรคอัลไซเมอร์’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เป็น ‘โรคสมองเสื่อม’ ก็ไม่ได้มีอาการหรือต้องเป็น ‘โรคอัลไซเมอร์’ เสมอไป เพราะโรคสมองเสื่อมนั้นมีอยู่หลายชนิด โดยมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกัน
สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ แตกต่างกันอย่างไร?
ทางการแพทย์นั้น ‘โรคสมองเสื่อม’ กับ ‘โรคอัลไซเมอร์’ มีความแตกต่างกัน เพราะโรคสมองเสื่อมเราจะใช้เรียกกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายกลุ่มปัจจัย เพียงแต่โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ คือชนิดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ทำให้คนทั่วไปคิดว่าเมื่อเป็นโรคสมองเสื่อมจะหมายถึงเป็นโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
ไม่ต้องรอสูงอายุก็สมองเสื่อมได้! วัย 30+ ต้องระวังเช็กได้ก่อนรุนแรง
ไม่ต้องรอสูงอายุ! เช็คสัญญาณสมองเสื่อมก่อนวัย ความเสี่ยงและวิธีป้องกัน
กลุ่มอาการและชนิดของโรคสมองเสื่อม
- สมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับความชราจึงพบมากในผู้สูงอายุราว 60 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันก็พบว่า มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มากขึ้นเรื่อย ๆ โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่กระทบกับเรื่องของความจำ ความคิด การตัดสินใจ การพูด การสื่อสาร ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาด้านพฤติกรรม ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมาด้วยอาการ หลงลืม ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ อย่างการหลงทางในเส้นทางเดิมๆ ที่เคยใช้ในชีวิตประจำวัน กลับบ้านไม่ถูก หรือไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด ความประณีต ลืมชื่อคนใกล้ชิด ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือลืมเพียงบางส่วน นอกจากอาการหลงลืม ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เป็นต้น
โดยปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยที่ชัดเจนในการเกิดโรค จึงระบุกลุ่มเสี่ยงที่แน่นอนไม่ได้ แต่บางส่วนอาจมีความเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับเรื่องของพันธุกรรมนั้นต้องบอกว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยๆ
ประเภทปัจจัยที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม
- สมองเสื่อมจากพาร์กินสัน (Parkinson disease) เป็นความเสื่อมของสมอง และยังเกี่ยวเนื่องกับการควบคุมการเคลื่อนไหว เราจึงเห็นผู้ป่วยพาร์กินสันมีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการมือสั่น และเมื่อมีความเสื่อมมากขึ้นก็จะส่งผลต่อระบบความจำด้วย
- สมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด (Vascular Dementia)เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีเส้นเลือดสมองตีบ แตก สมองเสียหายหรือตายไปบางส่วน จึงนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้
- สมองเสื่อมจากกลุ่มปัจจัยอื่นๆเช่น มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม การได้รับสารเคมีบางชนิด หรือเป็นโรคสมองอักเสบ
การตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม
- การตรวจด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง
- การตรวจประเมินโดยนักจิตวิทยา
- การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การเจาะเลือดหาความผิดปกติของบางโรคที่ทำให้มีปัญหาเรื่องความจำ เช่น ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจภาวะโลหิตจาง และตรวจซิฟิลิส
- อาจมีการตรวจบางโรค ที่แม้จะไม่ใช่เหตุผลหลักแต่เป็นปัจจัยร่วมในการเกิดโรค อย่างโรคเบาหวาน ไขมันในเลือด เป็นต้น
เมื่อได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยและบอกได้ว่าผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมชนิดใด เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องตรงจุด ซึ่งเหตุผลหลักที่ต้องทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มโรคสมองเสื่อมชนิดใดนั้น เนื่องจากการรักษาโรคสมองเสื่อมในแต่ละสาเหตุจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
เบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี อาจเสี่ยงสมองเสื่อม
การรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
การรักษาโรคสมองเสื่อมในปัจจุบัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา และสิ่งที่แพทย์จะบอกผู้ป่วยและญาติเสมอคือ ในปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่การกินยาจะช่วยชะลอให้โรคที่เป็นอยู่ดำเนินช้าลง สมองจึงเสื่อมช้าลง ดังนั้นการตรวจพบอาการสมองเสื่อมได้เร็ว ผลการรักษาก็จะดีกว่า และช่วยชะลอความเสื่อมได้มากกว่า
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท
ชอบคุณภาพจาก : freepik
ปัญหาเรื่องหู ทำสมองเสื่อมได้ เช็กสัญญาณเตือนหูเสื่อม วัยไหนก็เป็นได้