ไม่ต้องรอสูงอายุก็สมองเสื่อมได้! วัย 30+ ต้องระวังเช็กได้ก่อนรุนแรง
ภาวะสมองเสื่อม คือการเสื่อมประสิทธิภาพของสมองลดลงเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางความคิด ความจำ การใช้เหตุผล และการสื่อสาร รวมถึงบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ ปกติมักเกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเรามักได้ยินข่าวคราวของภาวะสมองเสื่อมในคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ
ภาวะสมองเสื่อมในคนอายุน้อย (Dementia in younger) มักเกิดในคนอายุ 30+ ขึ้นไป (มากกว่ากลุ่มเสี่ยง 65+ ถึงเท่าตัว)เริ่มพบมากขึ้นถึง 6.9% ของจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน จึงมักถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน เลยไม่ได้สังเกตความผิดปกติ จนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว
การสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย
- ลืมเรื่องง่ายๆ เช่น วัน เดือน ปี สถานที่ที่เพิ่งไปมา ลืมนัดสำคัญหรือบางคนถึงขั้นลืมวันเกิดตัวเอง
ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ! หนุ่มจีนอายุ 19 ปี ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์
เช็ก 10 ข้อ ขี้หลงขี้ลืมแบบไหนเป็นสัญญาณเตือนโรคสมองเสื่อม
- บุคลิกภาพเปลี่ยน เช่น พูดไม่ได้ใจความ บางครั้งพูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดซ้ำๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนรอบข้างถดถอยลง
- การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ
- มักเกิดความผิดพลาดในการกะระยะ การบอกสี บอกความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัญหามากถ้าผู้ป่วยต้องขับรถ
- ภาวะเครียด ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย ย้ำคิดย้ำทำ
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย
- คนในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมตอนอายุน้อยๆ
- ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ส่งผลให้เซลล์สมองตาย (สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน)
- ฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีระดับต่ำกว่าปกติ
- ภาวะร่างกายขาดวิตามินบี 12 หากขาดเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม
- สูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี12
- ดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานหรือดื่มในปริมาณมากอาจทำลายสมองส่วนต่างๆได้
- การติดเชื้อในสมอง เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสอื่นๆ
- ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเนื้องอกสมอง
อาการขี้ลืมแบบไหนไม่ปกติเสี่ยงอัลไซเมอร์ เช็กสัญญาณโรคสมองเสื่อม
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น จะต้องอาศัยอาการอื่นๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกอบการวินิจฉัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ต้องใช้การสังเกตโดยคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อมอยู่หรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบและวินิจฉัย
ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายขาดได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคติดเชื้อเช่น HIV หรือซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจส่งผลให้อาการแย่ลงหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ของร่างกายซึ่งอาจเสียชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลพญาไท