“ภูมิแพ้” ทำไมรุนแรงมากขึ้นช่วงหน้าหนาว? เสี่ยงโรคหอบหืด-ไซนัสอักเสบ
คัดจมูก ไอจาม คันตามตัว หายใจมีเสียงหวีด อาจเป็นอาการปกติของคนที่เป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่ไม่ค่อยหนาวซึ่งต้องรีบรักษาก่อนมีโรคแทรกซ้อน!
ภูมิแพ้ เกิดจากภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) คือ โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่อสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ โรคชนิดนี้มักไม่ค่อยรุนแรงถึงชีวิต แต่จะส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ฟืดฟัดตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะเวลาอากาศแห้งและเปลี่ยน อย่าง ช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือนพฤศจิกายนเช่นนี้
ภูมิแพ้กับไข้หวัดต่างกันอย่างไร? แนะวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้อาการเรื้อรัง
“อาการภูมิแพ้” ทำไมถึงแย่ลงในช่วงเวลากลางคืน พร้อมแนะนำวิธีบรรเทาอาการ
ภูมิแพ้พบมากทั่วโลก ขณะที่ไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
อาการโรคภูมิแพ้
- มีผื่นที่ผิวหนัง เช่นผื่นแพ้ ลมพิษ คันตามผิวหนัง
- คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
- ไอ แน่นหน้าอก
- หายใจมีเสียงหวีด โรคหอบ หืด
- เคืองตา และตาแดง คัดจมูก
- บวมรอบปาก อาเจียน และถ่ายเหลว
- แสบคอ น้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้มีอาการเวลานานๆ อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก นอนกรน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผิวหนังติดเชื้อ คออักเสบ ไอเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบ ปวดหู หูอื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอาการโรคภูมิแพ้ได้ง่าย หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศหนาว อาการเปลี่ยน หรือมลพิษในอากาศ
ภูมิแพ้กำเริบหน้าหนาวง่ายกว่าฤดูกาลอื่น?
เป็นเรื่องจริง เพราะผู้ป่วยภูมิแพ้มีความไวต่ออากาศเย็น จึงต้องดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ห้องแอร์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลานานๆ
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
- กรรมพันธุ์ เพราะภูมิแพ้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ถ้าพ่อ หรือแม่เป็น ลูกก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ได้ประมาณ 30% แต่ถ้าหากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกที่เกิดจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้สูงถึง 60 - 70 %
- สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากเพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายของเรา เกิดจากภาวะแวดล้อมทั้งสิ้น ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการสัมผัสสารที่ร่างกายได้รับ หรือสัมผัสแล้วทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ตามมา ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ขาว อาหารทะเลนอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่
การรักษาภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคือง เนื่องจากการรักษาที่ดีที่สุดของโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อการรักษา หรือเพื่อบรรเทา และควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น
- การใช้ยารักษา แพทย์จะวินิจฉัย และจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น ผู้ที่มีอาการคัดจมูกมากอาจจะต้องใช้ยาลดอาการคัดจมูก สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้ยาพ่นจมูก
- การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgG การฉีดจะเลือกฉีดเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ทดสอบทางผิวหนังแล้วพบว่าแพ้ จากนั้นแพทย์จะเพิ่มขนาดยาตามตารางเวลา ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดจะมีรอยผื่นแดง ผื่นคัน นานประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น คือ การคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังฉีด มีส่วนน้อยที่อาจจะแพ้ยาที่ฉีดชนิดรุนแรง แต่อาการมักเป็นชั่วคราว และหายได้หลังจากแพทย์ให้ยาแก้แพ้
จุดสังเกต “ภูมิแพ้” แบบไหนต้องรีบพบหมอ “บุ๋ม ปนัดดา” ร่วมเผยประสบการณ์
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสาร หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
- ดูแลร่างกายให้สดชื่น แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควรออกกำลังกายเป็นประจำ
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำเมื่อมีน้ำมูกเรื้อรัง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พบแพทย์เมื่อมีอาการแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ หอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามภูมิแพ้ไม่นับว่าเป็นโรคร้ายแรงแต่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนทำให้อันตรายได้ถึงชีวิต บั่นทอนคุณภาพชีวิตการรักษาให้หายขาดจึงสำคัญอย่างยิ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
ภาพจาก : Freepik
รู้จักชนิด "น้ำเกลือล้างจมูก" แนะวิธีเลือกซื้อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย
วิธีล้างจมูกไม่ให้สำลัก เด็กทำได้ ผู้ใหญ่ทำดี ลดภูมิแพ้จาก PM2.5