มะเร็งช่องปากกับเชื้อ HPV เกี่ยวกันอย่างไร? เปิดข้อมูลสาเหตุก่อโรค
เปิดข้อมูลทางการแพทย์ เกี่ยวข้องกับมะเร็งช่องปาก พบเชื้อ HPV หนึ่งสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก สามารถกระตุ้นมะเร็งช่องปากโตเร็วกระจายตัวช้าเสี่ยงทะลุใบหน้าได้เช่นกัน
เอชพีวี หรือ Human Papillomavirus (HPV) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เยื่อบุผิว และยังก่อให้โรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย HPV สามารถอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวหนัง และในเยื่อมูกที่ปกคลุมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ภายในจมูก ปาก และลำคอ ด้านในของเปลือกตา ด้านในของผิวหนังและท่อปัสสาวะที่องคชาติ ช่องคลอด ปากมดลูก และอวัยวะเพศภายนอก ทวารหนัก

ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเชื้อเอชพีวี (HPV) มากกว่า 100 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้จะมีประมาณ 40 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ และแน่นอนว่า สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก หรือแม้แต่ทางช่องปาก
มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่อวัยวะในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก เหงือก ลิ้นไก่ กระพุ้งแก้ม เพดานปากทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร ส่วนบนของลำคอ และอวัยวะที่พบว่าเป็นมะเร็งได้บ่อย คือ ลิ้น และพื้นปากใต้ลิ้น
จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปาก คือ การสูบบุหรี่หรือยาสูบ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื่องจากพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 6 เท่า ในปัจจุบันยังพบว่าการสำเร็จความใคร่ทางปาก (Oral sex) กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปาก (Oral cancer) เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ควรต้องระวัง
- มีประวัติทางพันธุกรรมเคยมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
- มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีหรือเคยโดนรังสี
- รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไปอยู่เป็น เนื่องจากความร้อนที่มาจากอาหารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปาก เมื่อเกิดการระคายเคืองต่อเนื่องเป็นประจำจึงอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
- มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex) กับผู้ติดเชื้อเอชพีวี (HPV)
- มีสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุเรื้อรัง หรือเกิดการระคายเคืองหรือมีแผลในช่องปากเป็นระยะเวลานาน
- ใส่ฟันปลอมที่หลวม ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจกักสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น สารเคมีในบุหรี่ แอลกอฮอล์ ทำให้สัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
- รับประทานหรือเคี้ยวอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่ เช่น หมาก พลู ยาเส้น และการใช้ยานัตถุ์
- รับประทานผักและผลไม้น้อย
- ใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ข้อมูลข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) กับ มะเร็งช่องปาก” ได้ค่อนข้างชัดเจน หากทุกคนตระหนักถึงความน่ากลัวของโรคร้ายเหล่านี้ก็ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต