เริมเป็นซ้ำบ่อยอันตรายหรือไม่ ? เผยตัวกระตุ้น เหตุผลที่รักษาไม่หายขาด
เครียดนิด นอนผิดเวลาหน่อย เริมก็ถามหา แพทย์เผยสาเหตุของโรคและปัจจัยกระตุ้นก่อโรคซ้ำ เหตุผลที่รักษาไม่หายขาด และหากเป็นเริมบ่อยอันตรายหรือไม่?
โรคเริม (herpes) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการแสบๆ คันๆ บริเวณที่เป็น ร่วมกับตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่ม บนพื้นสีแดง พบได้เกือบทุกแห่งของร่างกาย แต่พบได้บ่อยที่บริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมแล้ว จะมีโอกาสเกิดโรคเริมซ้ำได้อีก ที่ตำแหน่งเดิมได้บ่อยพอสมควร เนื่องจากเชื้อไวรัสเริมจะเข้าไปหลบซ่อนตัวที่ในปมประสาท พอร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสเริมก็จะออกมาก่อโรค ทำให้เกิดโรคเริมขึ้นที่เดิมได้อีก
Freepik/1cE_
เริมที่ปาก

สาเหตุของเริม
เชื้อไวรัสเริมเป็นDNAไวรัสชนิดสายคู่ที่มีเปลือกหุ้ม อนุภาคของไวรัสประกอบด้วยส่วนเปลือก ส่วนนอกคลุม ส่วนนิวคลิโอแคปสิด และแกนดีเอ็นเอตรงกลาง ส่วนนิวคลิโอแคปสิดของไวรัสเริมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 105 นาโนเมตร ประกอบไปด้วย 162 แคปโซเมอร์ โมเลกุลของดีเอ็นเอมีความยาว 150 กิโลเบส สร้างโปรตีนมากกว่า 100 ชนิด โครงสร้างจีโนมของไวรัสเริมคล้ายคลึงกับเชื้อชนิดอื่นๆ ในตระกูลเดียวกัน ทั้งหมดประกอบไปด้วยชิ้นส่วนยาวและสั้นเรียงต่อกันในทิศทางต่างๆ เกิดเป็น 4 ไอโซเมอร์
- เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 ทำให้เกิดโรคเริมที่ริมฝีปากและรอบๆ ปากได้บ่อย
- เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ทำให้เกิดโรคเริมที่บริเวณอวัยวะเพศ บริเวณก้น และในร่มผ้าได้บ่อย
ทั้งนี้พบว่าจีโนมของเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 และเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 มีความเหมือนกันมากถึงร้อยละ 50-70
การติดต่อของเริม
ไวรัสเริมติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง ผู้ได้รับเชื้อมีแผลถลอกอยู่ ทำให้เชื้อไวรัสเริมเข้าไปได้ โดยมากมักพบเริมที่บริเวณริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ การจูบหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกันทำให้เชื้อเริมติดต่อได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่อีกฝ่ายกำลังเป็นเริมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ปกติ ทางปาก หรือทางทวารหนัก มีรายงานการติดเชื้อเริมจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะ บางคนเป็นเริมที่นิ้วมือ ติดจากการจับมือกัน การโหนราวรถเมล์ การจับลูกบิดประตูห้องน้ำสาธารณะ การจับโทรศัพท์สาธารณะ โดยทั่วระยะเวลาฟักตัวของไวรัสเริมประมาณ 2-20 วัน
ตำแหน่งของโรคเริม
- บริเวณปาก ริมฝีปาก และรอบๆ ปาก เป็นตำแหน่งที่พบบ่อยมาก
- บริเวณอวัยวะเพศ ก้น และในร่มผ้า เป็นตำแหน่งที่พบบ่อยเช่นกัน
- บริเวณมือ เป็นตำแหน่งที่พบได้น้อย นานๆจึงจะพบโรคเริมที่มือ นิ้วมือ ฝ่ามือ
- บริเวณเอว ลำตัว หลัง เป็นตำแหน่งที่พบค่อนข้างน้อยเช่นกัน อาจพบในนักมวยปล้ำที่มีการต่อสู้กอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน
- เริมเป็นโรคที่ติดต่อโดยการสัมผัส ดังนั้น บุคคลบางอาชีพจึงอาจจะเป็นเริมที่ตำแหน่งแปลกๆ ที่พบไม่บ่อยนักได้ เช่น ที่บริเวณนิ้วมือ ในทันตแพทย์ หรือตามแขน หรือลำตัวในพวกนักมวย หรือ มวยปล้ำ
อาการของเริม
- ลักษณะเริ่มต้นเป็นตุ่มน้ำพองใสเหมือนหยดน้ำเล็กๆ มีขอบแดง มักขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ต่อมาตุ่มน้ำเหล่านี้จะแตกเป็นแผลถลอกตื้นๆ และหายไปในที่สุด
- อาจมีอาการคัน เจ็บหรือปวดแสบปวดร้อน ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บๆ แสบๆ คันๆ แต่ไม่มากนัก ไม่ถึงกับปวดจนนอนไม่ได้ ไม่ถึงกับคันมาก จนต้องเกาแรงๆ
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณผื่นอาจจะโต และเป็นอยู่ประมาณ 10-14 วัน
การเป็นเริมในครั้งแรก มักจะมีอาการมากกว่าในครั้งถัดๆ มา ถ้าเป็นที่ปาก จะมีอาการเป็นตุ่มน้ำพองเล็กๆ ทั่วทั้งช่องปาก โดยเฉพาะที่บริเวณเหงือก พบว่าต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงบวมโต อาการค่อนข้างรุนแรง อาจมีไข้ปวดเมื่อย ถ้าเป็นเริมที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบอาจอักเสบร่วมด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าการติดเชื้อไวรัสเริมครั้งแรก จะเกิดตุ่มน้ำหลายกลุ่ม ต่อมาจะแห้งตกสะเก็ดแล้วแผลจึงจะหาย
การติดเชื้อซ้ำ
สำหรับปัญหาของโรคเริมที่สำคัญคือ เมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นจะมีการกลับเป็นผื่นใหม่เป็นระยะๆ เนื่องจากร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสไม่หมด การกลับมาเป็นใหม่ของโรคเริมแต่ละครั้ง จะเกิดตุ่มน้ำกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5-7 วัน โดยไม่มีอาการ โดยมากเกิดปีละ 2-3 ครั้ง และเกิดใกล้ๆ บริเวณเดิม โรคเริมที่เกิดซ้ำ อาการและรอยโรคไม่ค่อยรุนแรงเหมือนครั้งแรก
ผู้ป่วยจะมี“อาการเตือน” นำตุ่มน้ำมาก่อน 1–3 วัน เช่นเจ็บเสียวแปลบๆ คันยุบยิบ ปวดแสบปวดร้อนในบริเวณรอยโรคเดิม แผลจะหายเร็วภายใน 5-10 วัน ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รอยโรคอาจรุนแรงหรือเป็นแผลเรื้อรังได้
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า การเป็นเริมครั้งถัดๆ มา จะไม่ใช่เป็นการติดเชื้อใหม่ แต่เป็นเชื้อเดิมที่หายแล้ว และซ่อนตัวอยู่ในบริเวณปมประสาทที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อมีการกระตุ้น ก็จะย้อนแนวเส้นประสาทออกมาแสดงอาการที่ผิวหนัง ทำให้เริมมักจะเป็นในบริเวณเดิมที่เคยเป็นมาแล้ว แต่อาการจะน้อยกว่า
ปัจจัยการเกิดเริมซ้ำ
- ความเครียด
- ทำงานหนักมากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ อ่อนล้า ภูมิต้านทานของร่างกายลดน้อยลง ทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้โอกาสติดเชื้อไวรัสจึงมีมากกว่าคนทั่วไป
- เชื้อไวรัสเริมชอบอากาศร้อนชื้นเหงื่อออกง่าย คนไทยจึงเป็นเริมกันบ่อย
- คนที่ไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย เช่น กำลังเป็นหวัด ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอ โอกาสติดเชื้อไวรัสเริมมีมากกว่าในคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ผู้ที่ต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆ เช่น เป็นอัมพาต ผู้ที่รับการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีกระดูกหัก ทำให้ขยับตัวลำบาก มีโอกาสเป็นเริมที่ก้นได้ง่าย
- เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ต่างๆ ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้วถ้าวันไหนดื่มเหล้าเบียร์มากจนเกินไป จะมีโอกาสเป็นเริมซ้ำขึ้นได้อีกง่ายมาก
การรักษาเริม
เริมสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องรักษา ซึ่งมักจะเป็นอยู่ประมาณ 10-14 วัน โดยที่ในระหว่างที่เป็น ผู้ที่เป็นสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้โดยการสัมผัส การใช้ยาต้านไวรัสช่วยลดความรุนแรงของโรค แผลหายเร็วขึ้น แต่ยังมีราคาค่อนข้างแพง
- ยาทาที่นิยมใช้ ได้แก่ Zovirax, Virogon, Vilerm, Zevin
- ยาชนิดรับประทาน ได้แก่ Zovirax, Valtrex, Famvir นิยมใช้ในกรณีสำหรับผู้ที่มักจะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย
คนทั่วไปที่เป็นเริม มักต้องการการรักษาตามอาการเท่านั้น เพราะเริมเป็นโรคที่หายได้เอง เว้นเสียแต่ในรายที่เพิ่งเริมแสดงอาการ หรือมีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือไม่มีแนวโน้มที่แผลจะหายได้เอง จึงควรที่จะได้รับยาต้านไวรัสที่จำเพาะกับโรค ร่วมไปกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนศูนย์วิจัยสุขภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Bangkok Health Research Center