เทคนิคจัดบ้าน สร้างเซฟโซน ผู้สูงอายุ ป้องกันการหกล้มและเหตุไม่คาดคิด
นอกจากการดูแลสุขภาพแล้ว หนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ป้องกันการหกล้ม และเหตุไม่คาดคิด
ผู้สูงอายุนับว่าเป็นวัยที่ต้องให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแล ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นยิ่ง สุขภาพและร่างกายย่อมถดถอย นอกจากการดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม อาหารการกิน การออกกำลังกายแล้วการจัดบ้านเพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินชีวิตและใช้งานของผู้สูงอายุจึงสำคัญ ป้องกันการหกล้ม เพราะผู้สูงวัยที่น้ำหนักน้อยหรือมากเกินไป กล้ามเนื้อลีบเล็ก ข้อเสื่อมทำให้ขาโก่ง หลังคด/งองุ้ม มีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อเรื้อรัง

รวมถึงผู้ที่มีภาวะอารมณ์ไม่ปกติ มีภาวะสมองเสื่อม หรือรับประทานยาที่ทำให้ง่วงซึมเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการหกล้มสูงมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการทรงตัว ใช้อุปกรณ์ช่วยทรงตัวรวมถึงรองเท้าที่แพทย์แนะนำ และควรปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย ไม่มีจุดที่จะสะดุด ลื่น หรือพลัดตกได้
จัดบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงวัย
- พื้นบ้านเรียบแต่ไม่ลื่น ไม่มีระดับ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่ควรลงน้ำมันหรือขัดเงา ควรหลีกเลี่ยงการปูพื้นด้วยลวดลายหรือสีสันที่มองแล้ว “ลายตา” เพราะจะทำให้มองระดับบนพื้นหรือสิ่งของที่วางกีดขวางอยู่ไม่ชัด หากมีพื้นที่ต่างระดับ ควรติดแถบสีหรือเทปกันลื่นที่ขอบ เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นได้ชัดเจน
- ห้องนอนที่สะดวกสบายและปลอดภัย ห้องนอนของผู้สูงอายุควรตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้นลงบันได ควรมีการระบายอากาศที่ดี ไม่อับทึบ และตั้งอยู่ในบริเวณที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนหรือกลิ่นจากห้องครัวหรือโรงรถ เตียงไม่ควรเตี้ยหรือสูงเกินไป ควรมีสวิตช์เปิดปิดไฟใกล้หัวเตียงเพื่อสะดวกในการเปิดหากผู้สูงอายุตื่นมากลางดึก
- ห้องน้ำ เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุล้มบ่อยมาก ดังนั้น ควรเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่มีคุณสมบัติกันลื่น (none slip) ควรแยกโซนแห้ง-โซนเปียกออกจากกัน ติดตั้งราวจับบริเวณต่างๆ เช่น ข้างโถส้วม ข้างอ่างล้างมือ ในพื้นที่อาบน้ำ ใช้เก้าอี้นั่งอาบน้ำ ใช้โถส้วมแบบนั่งแทนแบบนั่งยอง ประตูห้องน้ำควรเปิดปิดได้ง่าย เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน
- เฟอร์นิเจอร์ เลือกที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ความสูงและรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ควรเหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุ เช่น เก้าอี้ที่สูงพอให้สามารถวางเท้าได้พอดีและเข่างอเป็นมุมฉาก แนะนำเก้าอี้ที่มีพนักพิงและที่วางแขนจะปลอดภัยกว่า เตียงนอนควรมีความสูงที่ผู้สูงอายุสามารถขึ้นลงได้สะดวก โต๊ะหรือชั้นวางของไม่มีเหลี่ยมมุมที่อาจทำให้เกิดอันตราย
- ประตูภายในบ้าน เป็นแบบบานเลื่อน หรือมีลูกบิด/ที่โยกเปิดที่ไม่หนักหรือฝืดเกินไป เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้แรงมาก ควรมีขนาดกว้างพอสำหรับรถเข็นหรือการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
- แสงสว่างที่เพียงพอและไม่แยงตา การจัดแสงสว่างภายในบ้านควรเป็นแสงนวลตาและมีความสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญอย่างทางเดิน บันได และห้องน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการมองไม่เห็นสิ่งกีดขวางหรือพื้นที่ต่างระดับ สวิตช์ไฟควรอยู่ในระดับอกหรือไหล่ซึ่งจะช่วยให้กดปิดเปิดได้ง่ายและเห็นชัดเจน
นอกจากนี้ ควรกำลังใจและความรักในครอบครัวสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างมาก หากอยู่บ้านเดียวกัน ควรมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว บางครั้งผู้สูงวัยอาจต้องการแค่ “เวลา” ที่จะเห็นหน้าและพูดคุยกับคนที่ท่านรัก การใส่ใจ “รับฟัง” อย่างให้เกียรติ หรือยอมให้ผู้สูงอายุทำอะไรเล็กๆน้อยๆ ให้เรา จะทำให้ท่านรู้สึกว่ายังเป็นที่ยอมรับ ยังมีคุณค่าในสายตาของคนในครอบครัว แม้ผู้สูงอายุจะเคยเป็นคนแข็งแรงแต่ความเสื่อมถอยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวันที่ร่างกายเปลี่ยนไป การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพไม่ให้ป่วย และการตรวจคัดกรอง “โรคประจำวัย” อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจสำคัญ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์