อาหารต้านมะเร็ง สุดยอดงานวิจัยป้องกันร่างกายจากเซลล์มะเร็ง
โรคมะเร็ง โรคเรื้อรังที่บั่นทอนสุขภาพในทุกด้าน รู้หรือไม่ ? มีอาหารบางชนิดสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งได้!
ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากป่วย และอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลำพังแค่ป่วบไข้ธรรมดา ยังบั่นทอนสุขภาพไปหลายสัปดาห์ นับภาษาอะไรกับโรคเรื้อรังอย่างมะเร็ง ที่ส่งผลเสียทั้งกายและใจและต้องใช้เวลารักษานาน เทรนด์สุขภาพการดูแลเชิงป้องกันจึงเกิดขึ้น ทั้งการออกกำลังกายและการกินซึ่งมีงานวิจัยอยู่หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่ามีอาหารบางกลุ่มช่วยต่อต้านมะเร็งลดการอักเสบของร่างกายได้!
กลุ่มอาหารต้านมะเร็งในปัจจุบันที่พบงานวิจัยทางการแพทย์
ผักตระกูลครูซิเฟอรัส อาทิ บร็อคโคลี่,กะหล่ำดอก ผักกลุ่มนี้อุดมด้วยสารประกอบที่ชื่อ อินโดล-ทรี-คาร์บินัล (Indole-3-Carbinol) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งจะเพิ่มการขับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมออกมา
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สารประกอบสองตัวนี้ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย การรับประทาน นิยมลวกในน้ำเดือดไม่เกิน 2-3 นาที หรือกินต้นอ่อนแรกแตกหน่อแบบสดๆ อีกทั้งปัจจุบันยังมีสารสกัดทำออกมาในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อใช้ในการบำรุงร่างกาย
เห็ด ในเห็ดหลายชนิด มีสรรพคุณในการเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ ซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายและป้องกันมะเร็ง งานวิจัยของ International Journal of Cancer แนะนำให้ทานเห็ดต่างๆ วันละ 10 กรัม จะให้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ ส่วนเห็ดที่ได้รับการยอมรับเรื่องป้องกันโรคมะเร็ง และนิยมนำมาสกัดเป็นอาหารเสริม เช่น
- เห็ดหลินจือ (Ganoderma Reishi)
- เห็ดหอม (Shitake)
- ถั่งเช่า (Cordyceps)
- เห็ดหางไก่งวง (Coriolus versicolour)
- เห็ดหิ้งไซบีเรีย (Chaga)
- เห็ดไมตาเกะ (Maitake)
อาหารที่มีไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ
งานวิจัยพบว่า การได้รับไฟเบอร์หรือเส้นใยจากธรรมชาติ อย่างน้อยวันละ 10 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ 7% เหตุผลที่สนับสนุนคือ เส้นใยจากธรรมชาติจะช่วยลดความเข้มข้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดที่ไม่ดีในร่างกายลง อาหารที่อุดมด้วยเส้นใยจากธรรมชาติ และแคลอรี่ต่ำ พบในพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วขาว ถั่วปินโต ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วพีแคน ถั่ววอลนัต ถั่วพิสตาชิโอ
อาหารที่อุดมสารฟีนอลิก
สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound) หรือ สารประกอบฟีนอล ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเจริญเติบโตในพืช แต่ยังมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพมนุษย์ คือ มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลิสระ (antioxidant) ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง สารสำคัญในกลุ่มฟีนอลิกพบในพืชหลายชนิด เช่น
- คาเทชิน (Catechin) ในชาเขียว
- เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ในผิวขององุ่นแดง และในไวน์แดง
- แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในผลไม้ตระกูลเบอรี่ เช่น บลูเบอรี่ องุ่น
- แคปไซซิน (Capsaicin) พบในพริก
- เคอคิวมิน (Curcumin) พบในขมิ้นชัน
- จินเจอรอล (Gingerol) พบใน ขิง
- ยูจินอล (Eugenol) พบใน กานพลู ตะไคร้ ใบกระเพรา
อาหารที่อุดมด้วยสารกลุ่มวิตามินเอ
วิตามินเอที่เราเคยท่องจำสมัยเด็กๆ นั้น ช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณ แต่อันที่จริงแล้วอาหารที่อุดมด้วยสารกลุ่มวิตามินเอนั้น ยังมีรายงานถึงการป้องกันโรคมะเร็งอีกด้วย เช่น
- มะเขือเทศชนิดปรุงสุก และฟักข้าว อุดมด้วยสารไลโคพีน (Lycopene)
- ผักสีส้มเหลือง เช่น แครอท ฟักทอง มันเทศเหลือง อุดมด้วยสารเบต้าและแอลฟ่าแคโรทีน (Alpha- and Beta-Carotene)
- ผักโขม ผักเคล อุดมด้วยสารลูทีน ซีแซนทีน ( Lutein and Zeaxanthin)
อาหารที่ลดการอักเสบซ่อนเร้น
อาหารดังต่อไปนี้มีส่วนช่วยลดการกระตุ้นภาวะอักเสบฉับพลันและเรื้อรังที่อาจเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็ง คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้หมั่นบริโภคอาหารเหล่านี้ เช่น
- ปลาและน้ำมันปลา ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid)
- น้ำมันมะกอก ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 9 (Omega-9 Fatty Acid) และสารกลุ่มโพลิฟีนอล (Polyphenol)
- ขมิ้นชัน ซึ่งอุดมด้วยสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid)
นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีและการออกกำลังกายแล้ว การหมั่นตรวจเช็คความเสื่อมของร่างกายตามวัยนั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมะเร็งนอกจากเกิดจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็สามารถกระตุ้นให้เกิดได้เช่นกัน ดังที่เราเคยเห็นคนที่ดูแลตัวเองอย่างดีแต่ก็ยังเป็นมะเร็ง ดังนั้นเราจึงควรดูแลตัวเอง ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช