“แผลในกระเพาะอาหาร” เช็กลิสต์อาหาร 5 หมู่ อะไรกินได้และควรหลีกเลี่ยง
เปิดลิสต์รายการอาหารทั้ง 5 หมู่ สำหรับผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร อะไรกินได้และควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดการระคายเคือง ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นกระเพาะอาหารทะลุ
โรคกระเพาะอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นแผล และไม่เป็นแผล โดยมีอาการคล้ายคลึงกันคือ มักปวดท้องทรมานแบบเป็นๆ หายๆ สัมพันธ์กับมื้ออาหาร บางครั้งเวลาหิวก็ปวด หรือแม้แต่ยามอิ่มก็ยังปวด
หลายคนมักละเลย เพราะอาจใช้ชีวิตอยู่กับอาการปวดท้องจนเคยชิน ด้วยสภาวะสังคมที่เร่งรีบและชีวิตประจำวันที่วุ่นวาย ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารขึ้นมา
โพรไบโอติกส์ VS พรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร ? มีประโยชน์อะไรกับร่างกายบ้าง?
“แผลในกระเพาะอาหาร” รักษากี่วัน-ทำอย่างไรให้หายขาด
บางรายโชคดีอาจเป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดที่ไม่เป็นแผล ได้รับยาลดกรด 3-7 วัน อาการปวดท้องก็หายแล้ว แต่บางรายอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารขึ้นมา ส่วนใหญ่ต้องรับประทานยายาวนานถึง 4-6 สัปดาห์ แผลจึงหาย และยังอาจกลับมาเป็นได้อีก ถ้าไม่รู้จักผ่อนคลายความเครียด กินอาหารไม่ตรงเวลา และไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินบางประเภท
แล้วอาหารประเภทใดบ้าง ที่ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารควรกิน และไม่ควรกิน? เราได้รวบรวมแนวทางการรับประทานอาหารทั้ง 5 หมู่มาฝากกันดังนี้
รู้จัก “โรคแผลในกระเพาะอาหาร”
โรคแผลในกระเพาะอาหาร เรียกย่อว่า “โรคพียู” หรือ “พียูดี” คือ โรคที่เกิดมีแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือบริเวณปลายหลอดอาหารส่วนที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหารร่วมได้ ซึ่งเกิดจากเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหารถูกทำลายโดยกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหารเป็นจำนวยมาก
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จาก พฤติกรรมการกินอาหารไม่ตรงเวลา การกินอาหารรสจัด การกินยาบางกลุ่มที่กระตุ้นการสร้างกรด เช่น กลุ่มแอสไพริน ยารักษากระดูกและข้ออักเสบบางชนิด การสูบบุหรี่ และการติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (H.pylori) จากการรับประทานอาหารไม่สุก ไม่สะอาด จึงมีเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนเข้ามา
พฤติกรรมการทานอาหารที่ควรปฏิบัติ
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่เรามีการรับประทานเข้าไปทุกวัน แต่ละวันก็ประมาณ 2-3 มื้อ และต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหาร ภายในกระเพาะอาหารอยู่ตลอด เพื่อนำสารอาหารไปใช้ในการดำรงชีวิต
แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ย่อมมีผลต่อการเพิ่มความรุนแรงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นแล้วผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมการับประทานอาหาร ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ เพราะทุกครั้งที่อาหารตกถึงท้อง จะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารอย่างพอดี ไม่ควรกินอิ่มมากเกินไปในแต่ละมื้อ เพราะถ้ารับประทานอาหารในปริมาณมากจนเกินไป อาจส่งผลให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น จะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องมากขึ้น
- เคี้ยวอาหารช้าๆ ไม่รับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ เพราะถ้าเคี้ยวไม่ละเอียด กลืนเข้าไปทั้งคำใหญ่ๆ ทำให้อาหารย่อยยาก กระเพาะอาหาร เนื่องจากจะกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารให้หลั่งมากยิ่งอีก
-
หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เพราะจะกระตุ้นอาการปวดท้องได้
แนวทางการรับประทานอาหารแต่ละหมู่
หมู่ที่ 1 : โปรตีน
- ควรเลือกเนื้อสัตว์ย่อยง่าย ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไก่
- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่เหนียว ย่อยยาก เพราะกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารให้หลั่งมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานนมทุกชนิด เพราะเป็นอาหารที่กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารถั่วเมล็ดแห้ง เพราะมีไขมันสูงย่อยยาก ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
หมู่ที่ 2 : คาร์โบไฮเดรต
- หลีกเลี่ยงขนมปัง หรือเบเกอรี่ที่มีครีมเป็นส่วนประกอบ เพราะทำให้ย่อยยาก
- รับประทานบิสกิต หรือขนมแครกเกอร์ได้เมื่อรู้สึกหิว เพื่อให้ท้องไม่ว่าง
หมู่ที่ 3 : ผักต่างๆ
- ควรเลือกรับประทานผักให้หลากหลาย และควรต้มหรือนึ่งจนสุก เพราะผักดิบจะมีแก๊สเยอะ
- หลีกเลี่ยงผักดองทุกชนิด เช่น ผักกาดดอง กิมจิ เป็นต้น
- รับประทานผักใบเขียวเพิ่มมากขึ้น เพราะผักที่มีใยอาหารสูงและมีวิตามินเคสูงช่วยป้องกันเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารได้
หมู่ที่ 4 : ผลไม้ต่างๆ
- หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด เช่น ส้ม มะขาม มะนาว มะยม เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงผลไม้ดอง เช่น มะม่วงดอง ฝรั่งดอง เป็นต้น
- เลือกรับประทานผลไม้ที่หลากหลาย และควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม
- เลือกรับประทานผลไม้ที่มีใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้เพิ่มขึ้น เช่น กล้วย มะละกอ แอปเปิล ซึ่งมีใยอาหารประเภทแพคติน เข้ามาช่วยเคลือบกระเพาะอาหารให้สามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ดีขึ้น
หมู่ที่ 5 : ไขมัน/น้ำมันพืช
- พยายามใช้น้ำมันในการปรุงประกอบอาหารให้น้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น กะทิ เนย และของทอดทุกชนิด เพราะย่อยยาก ทำให้กระเพาะอาหารต้องขยายตัวและมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น
โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาทานควบคู่ไปกับการทานยาตามที่แพทย์สั่งประมาณหนึ่งเดือน หรือหนึ่งเดือนกว่าๆ แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้ว จะค่อยๆ กลับมารับประทานอาการที่ใกล้เคียงปกติได้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และรู้จักผ่อนคลายในตัวเองด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท และ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รู้จักแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) พิษร้ายก่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาหารลดกรดไหลย้อน กินดี-กินถูกหลัก-ไม่กินแล้วนอนช่วยบรรเทาอาการได้