กลุ่มอาหารต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่พบมากในไทยเป็นอันดับที่ 4
“มะเร็งลำไส้ใหญ่” ปัจจัยหลักสำคัญที่ก่อโรคคือพฤติกรรมการกินที่ผิดและสะสมจนกลายเป็นเนื้อร้าย เพราะแบบนี้จึงต้องปรับที่อาหาร แล้วกินดีแบบไหน?ถึงต้านมะเร็งได้ เช็ก 6 เคล็ดลับ กลุ่มอาหารต้านมะเร็งง่ายๆ ไม่แพงได้ที่นี้ค่ะ
ประเทศไทย มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากเป็นลำดับที่ 4 เช่นกัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 11,496 ราย/ปี อัตราการเสียชีวิต 6,845 ราย/ปี รองจาก มะเร็งตับ, มะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านม, ตามลำดับ โดยงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมการกินมีผลทำให้เกิดมะเร็งมากถึง 1 ใน 3 ของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นการรู้จักเลือกอาหารให้เหมาะสมและถูกต้องจึงมีส่วนอย่างมากในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง
“แผลในกระเพาะอาหาร” เช็กลิสต์อาหาร 5 หมู่ อะไรกินได้และควรหลีกเลี่ยง
อาหารต้านมะเร็ง สุดยอดงานวิจัยป้องกันร่างกายจากเซลล์มะเร็ง
- กินหลากหลายและครบหมู่
การกินอาหารเหมือนเดิมทุกวัน เราจะได้รับสารอาหารที่จำกัด และไม่เพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ หากอาหารมีความหลากหลายและมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ จะเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค สร้างความสมดุลให้ร่างกาย
- กินผักผลไม้หลากสี ต้านมะเร็ง
- สีแดง อุดมด้วยไลโคปีน (Lycopene) พบมากในมะเขือเทศ พริกแดง บีทรูท และแอปเปิ้ลสีแดง
- สีเหลืองและส้ม อุดมด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน (Beta carotene) พบมากใน ฟักทอง แครอท และส้ม
- สีเขียว อุดมด้วยอัลฟ่าแคโรทีน (Alpha Carotene)และคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) พบมากใน ผักโขม คะน้า บล็อคโคลี่
- สีม่วง อุดมด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) พบมากในกะหล่ำม่วง ดอกอัญชัน บลูเบอร์รี่ ลูกพรุน และข้าวเหนียวดำ
- สีขาว อุดมด้วยสารแซนโทน (Xanthone) พบมากในกระเทียม กล้วย ขิง หัวไชเท้า กะหล่ำ รวมถึงเห็ดต่างๆ
- เพิ่มธัญพืชและถั่ว
ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสีและถั่วต่างๆ มีส่วนสำคัญต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะอุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ และโปรตีน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ นอกจากช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้สมดุลแล้ว กากใยในธัญพืชและถั่วยังช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดอาการท้องผูกด้วย ธัญพืชและถั่วที่แนะนำ
- ข้าวกล้อง
- ลูกเดือย
- อัลมอนด์
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- พิเทชิโอ
- ถั่วขาว
- เติมเครื่องเทศในอาหาร
สรรพคุณของเครื่องเทศ เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม และขิง สามารถช่วยลดการอักเสบ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้
- เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง และเนื้อแดง
อาหารรสจัดโดยเฉพาะเค็มจัดและอาหารหมักดองที่ใช้เกลือจำนวนมาก ส่งผลให้ความดันเลือดสูงอาหารที่มีไขมันสูงจะส่งผลให้น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เช่น เนื้อติดมัน ไขมันสัตว์ เนย และกะทิ ซึ่งการบริโภคเนื้อแดงปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่ได้ หากต้องการโปรตีนควรรับประทานอาหารประเภท ปลา
8 สุดยอดเครื่องดื่ม อุดมประโยชน์ ต้านสารก่อโรคป้องกันอักเสบเรื้อรัง
หลีกเลี่ยงอาหารก่อมะเร็ง
- อาหารทอดหรือปิ้งย่าง โดยเฉพาะอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหรือปิ้งย่างจนไหม้เกรียม หากจะกินควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้ง จะช่วยลดสารพิษได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยจนเกินไป
- อาหารที่ขึ้นราง่าย เช่น พริกแห้ง กระเทียม และถั่วลิสง ก่อนกินควรดูให้แน่ใจว่าไม่ได้ทิ้งไว้นานจนเกิดเชื้อรา
- อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป ใส่สี รมควัน หรือใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า ขนม หรือเนื้อแดงที่สีสดมากๆ
- อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไม่สุกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งได้
- งดการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า รวมถึงทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อเป็นการป้องกันมะเร็งด้วยตัวเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำนอกจากการระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร นั่นก็คือการหมั่นสังเกตดูความผิดปกติของอุจจาระของตัวเองทุกวัน ฝึกให้เป็นนิสัย เพราะการสังเกตุลักษณะของอุจจาระ หากพบว่าอุจจาระมีสี กลิ่น หรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
นอกจากการ “เลือก” และ “เลี่ยง” อาหารต่างๆ ที่ส่งผลดีและผลร้ายต่อร่างกายแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน นอกจากนี้อย่ามองข้ามการตรวจสุขภาพประจำปีตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลมะเร็ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มอาหารทำลายสมอง เพิ่มความเสี่ยงอัลไซเมอร์-เบาหวาน
โพรไบโอติกส์ VS พรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร ? มีประโยชน์อะไรกับร่างกายบ้าง?