“มะยม” ผลไม้รสเปรี้ยวจัดฉ่ำน้ำ มีวิตามินซี และ สารต้านอนุมูลอิสระ
มะยม พืชมงคลของไทย ที่แค่ได้ยินชื่อหรือเห็นปากก็อาจมีเปรี้ยวเข็ดฟัน หรือน้ำลายสอได้เลย เป็นผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยวจัด มีประโยชน์หากกินแต่พอดี และมีโทษด้วยหากกินเยอะเกินไป
มะยม หรือ Star gooseberry เชื่อว่าแค่เห็นรูปหรือได้ยินชื่อหลายคนก็เปรี้ยวปากน้ำลายสอ เพราะนับเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวสดชื่น กินแล้วตื่นได้ในทันทีโดยไม่ต้องพึ่งคาเฟอีน ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลเบอร์รี ในวงศ์ Phyllanthaceaeคนไทยนิยมปลูกไว้บริเวณหน้าบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลว่าจะเป็นที่ “นิยมชมชอบ” นอกจากการนิยมทานสดคู่กับพริกเกลือทำเป็นยำมะยม แซ่บๆ แล้ว ยังนิยมนำมาทำเป็นมะยมเชื่อม มะยมแช่อิ่ม หรือ ใส่ในยำ ตำ แล้วแต่สะดวกเพื่อเพิ่มรสชาติ

จากการศึกษาทางพฤกษเคมีและเภสัชวิทยาพบกลุ่มสารในผลมะยม ประกอบไปด้วยสารกลุ่ม ฟีนอลิค, ฟลาโวนอยด์, ไฟโตสเตอรอล, คาร์โบไฮเดรต, แทนนิน, เทอร์พีนอยด์, ซาโปนิน, โปรตีน, กรดอะมิโน, วิตามินซี, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และ เหล็กเป็นต้น โดยในรากยังพบสาร Phyllanthusol A และ B ซึ่งถือว่าเป็นสารเอกลักษณ์ของพืชมะยมด้วย สารสำคัญเหล่านี้ทำให้มะยมมีฤทธิ์อย่างหลากหลาย ได้แก่ ฤทธ์ต้านการอักเสบ, ต้านอาการปวด, ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องตับ, ต้านเชื้อรา, ต้านเชื้อแบคทีเรีย, ลดระดับน้ำตาลในเลือด, ขับปัสสาวะ, ต้านเชื้อวัณโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลการศึกษาเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่นำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติม หรือการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ โดยมะยมยังมีสารประกอบ เช่น วิตามินซี กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) แทนนิน (Tannin) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีความเป็นกรดสูง จึงอาจใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ในผู้ที่มีอาการท้องผูกได้อีกด้วย
นอกจากนี้มีมะยมยังมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตามวิถีการแพทย์พื้นบ้าน เช่น ใช้เป็นยาระบาย, ลดความดันโลหิต, ปกป้องตับ, ป้องกันเบาหวาน, แก้อาการปวด, บรรเทาอาการไอ, หอบหืด และรักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น
ข้อควรระวังก่อนกินมะยม
- ผลมะยมมีรสเปรี้ยวจัด ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ท้องเดิน ท้องร่วง เข็ดฟันและเสียวฟันได้
- น้ำยางจากเปลือกของรากมะยม จะมีพิษเล็กน้อย จากสาร Phyllanthusols A และ B อาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้
ในการใช้มะยมเพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้นควรใช้ในปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้มากเกินที่ตำรายาต่างๆ ระบุเอาไว้ เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ก่อนจะใช้มะยมในการรักษาอาการของโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ทั้งนี้ยังเน้นย้ำว่าอยากให้กินทุกอย่างอย่างพอดี และเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ศึกษาต่อเนื่องทางเภสัช